magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ศิริราชเปลี่ยนไรฝุ่นเป็นวัคซีนภูมิแพ้
formats

ศิริราชเปลี่ยนไรฝุ่นเป็นวัคซีนภูมิแพ้

วัคซีนภูมิแพ้ไรฝุ่น ผลงานวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น 2554

ใครจะคาดคิดว่าสัตว์ตัวจิ๋วอย่าง “ไรฝุ่น”ภัยใกล้ตัวที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้สำหรับใครต่อใครหลายคน วันนี้กลับมีประโยชน์มหาศาล หลังนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลยกระดับภูมิคุ้มกันจับไรฝุ่นมาผลิตเป็น “วัคซีน”สู่ภาคอุตสาหกรรม ก่อประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทย ช่วยสร้างมูลค่าและลดอัตราการเกิดผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยได้อีกด้วย
โรคภูมิแพ้เป็นภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) ที่ร่างกายแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาการที่แสดงมีหลายรูปแบบ อาทิ เยื่อจมูกอักเสบ ผิวหนังอักเสบ และหอบหืด เป็นต้น ซึ่งจากการวิจัยพบว่าสาเหตุสำคัญของบ่อเกิดในโรคภูมิแพ้มาจากสัตว์ตัวจิ๋วที่ชื่อว่า “ไรฝุ่น(House Dust Mite)”

จากการวิจัยพบว่า ไรฝุ่น คือสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งในการก่อโรคภูมิแพ้ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่น้ำยาสกัดสารภูมิแพ้จากไรฝุ่นที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศจัดเป็นน้ำยาที่มีราคาแพงมากที่สุดในกลุ่มน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ

ทีมวิจัยจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้คิดค้นวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นขึ้นภายใต้ “โครงการพัฒนาการผลิตวัคซีนโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นที่ได้มาตรฐานของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2554”

รศ.ดร.พญ.อัญชลี ตั้งตรงจิตร ภาควิชาปรสิตวิทยา หนึ่งในทีมวิจัย คณะแพทยศาสตร์แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้ผลิตน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้และวัคซีนสำหรับตรวจและรักษาโรคภูมิแพ้ เพื่อใช้เองมานานกว่า 30 ปีแล้ว และตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลศิริราชสามารถเพาะเลี้ยงไรฝุ่นได้ปริมาณมาก โดยเฉพาะไรฝุ่นในสายพันธุ์ Dermatophagoides pteronyssinus หรือ Dp และ Dermatophagoides farinae หรือ Df ซึ่งพบมากในประเทศไทย

ทีมวิจัยนำไรฝุ่นสายพันธุ์ดังกล่าวนำมาผลิตน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้และวัคซีนสำหรับตรวจและรักษาโรคภูมิแพ้ โดยสามารถผลิตไรฝุ่นและเก็บเกี่ยวให้บริสุทธิ์ได้สูงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์

“การนำไรฝุ่นมาผลิตวัคซีนถือเป็นการต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์ เหมือนกับการที่เราปลูกข้าวแล้วเอามาแปรรูปทำเป็นขนมปัง ซึ่งการผลิตวัคซีนดังกล่าวทีมวิจัยควบคุมมาตรฐาน ด้วยการใช้ไรฝุ่นบริสุทธิ์ โดยมีการศึกษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ และทำให้สามารถตรวจรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น” รศ.ดร.พญ.อัญชลี กล่าวและว่า ขณะนี้วัคซีนที่คณะวิจัยผลิตได้ยังเป็นที่ต้องการของประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วย เนื่องจากมีราคาถูกกว่าวัคซีนที่ผลิตจากประเทศในแถบสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ถ้าประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นได้ในราคาถูกกว่าการนำเข้าร้อยละ 50 ก็จะสามารถประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายได้ราว 36 ล้านบาท ถึง 360 ล้านบาทต่อปี

“ไทยคือ 1 ใน 4 แห่งของโลกที่ได้ทำการผลิตไรฝุ่นเชิงพาณิชย์ (Pure mite production)โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองในการแยกไรฝุ่นบริสุทธิ์ให้ปนเปื้อนจากอาหารเพาะเลี้ยงให้น้อยที่สุด ขณะที่ในส่วนของการผลิตวัคซีนไรฝุ่นในระดับอุตสาหกรรม (Mite vaccine production) โรงพยาบาลศิริราช ได้มีการผลิตน้ำยาสกัดและวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียน ร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อการพึ่งพาตนเอง ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นโครงการแรกในภูมิภาคเอเชียในการพัฒนาเวชภัณฑ์ชีววัตถุ และที่สำคัญยังช่วยป้องกันและลดอัตราการเกิดผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นด้วย”

ปัจจุบันศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่น ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้มีการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาอุปกรณ์และวิธีการผลิตไรฝุ่นบริสุทธิ์แล้ว 7 รายการ และได้มีการจำหน่ายไรฝุ่นเชิงพาณิชย์ เพื่อนำไปผลิตเป็น Siriraj mite allergen vaccine และให้นักวิจัยทั้งในและต่างประเทศนำไปใช้เป็นแอนติเจนในงานวิจัยด้านวิทยาภูมิคุ้มกันและอณูชีววิทยาได้อย่างแพร่หลาย

รายการอ้างอิง :

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. ศิริราชเปลี่ยนไรฝุ่นเป็นวัคซีนภูมิแพ้. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 20 ตุลาคม 2555.– ( 574 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


nine × 9 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>