สถาบันแสงซินโครตรอน จับมือม.สุรนารี และม.ธรรมศาสตร์ วิจัยพบเชื้อแบคทีเรียต้านทานโรคใบไหม้ในมันสำปะหลัง ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการใช้สารเคมี
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ปัญหาที่พบในการปลูกมันสำปะหลัง คือการเป็นโรคและถูกรบกวนจากแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคใบไหม้ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งทำลายและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงหน้าฝน มีแนวโน้มการระบาดมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเกษตรกรยังไม่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเท่าที่ควร หากพบก็จะนิยมใช้สารเคมีกำจัดโรค ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค รวมถึงเกิดโรคดื้อสารเคมี
ล่าสุดสถาบันวิจัยฯ ร่วมกับมหา วิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิจัยค้นพบการนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังไปแช่ในเชื้อแบคทีเรียบาซิลัส อไมโลไลเควฟาเซียน (Bacillus amyloliquefaciens) ปรากฏว่าสามารถทำให้มันสำปะหลังต่อต้านเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคใบไหม้ได้ นอกจากนั้นยังทำให้ ราก ลำต้น และยอดมันสำปะหลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วอีกด้วย
ด้าน ดร.ณัฐธิญา เบือนสันเทียะ อาจารย์และนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า จากการวิเคราะห์เซลล์ของใบมันสำปะหลัง โดยใช้แสงอินฟราเรด สามารถบอกความแตกต่างของใบมันสำปะหลัง ระหว่างก่อนและหลังการชุบท่อนพันธุ์ด้วยแบคทีเรีย โดยพบว่าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวยังช่วยทำให้ปุ๋ยหรือธาตุอาหารที่สะสมอยู่ในดินเปลี่ยนเป็นสารอาหารที่พืชสามารถดูดนำไปใช้ได้ ส่งผลให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตและแข็งแรง ซึ่งจากการลงพื้นที่เพาะปลูกจริงที่ จ.นครราชสีมา พบว่าสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากถึง 30%.
รายการอ้างอิง :
วิจัยพบแบคทีเรียต้านโรคใบไหม้มันสำปะหลัง. เดลินวส์ (ไอที). วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2556.
– ( 110 Views)