magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก มองอนาคตอินเทอร์เน็ตไทยใน INET Bangkok 2013
formats

มองอนาคตอินเทอร์เน็ตไทยใน INET Bangkok 2013

ประเทศไทยใช้อินเทอร์เน็ตมาแล้วถึง 25 ปี และถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่ริเริ่มในการใช้อินเทอร์เน็ตของโลก

แต่ 25 ปีที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน และอนาคตเราจะก้าวต่อไปอย่างไร

นี่ก็คือสิ่งที่กลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย  รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนัก  และผลักดันให้เกิดการจัดงาน “INET  Bangkok 2013”  ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

“นางสาวดวงทิพย์ โฉมปรางค์” ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ประเทศไทย หรือ  ISOC บอกว่า  ปกติงาน  INET จะเป็นเวทีเสวนาวิชาการของชุมชนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วโลกที่จัดขึ้นทุก 2 ปี แต่งาน  INET Bangkok  นี้ถือเป็นการจัดงาน INET ในระดับภูมิภาค  ซึ่งแต่ละปีจะมีประเทศในแต่ละภูมิภาคที่มีศักยภาพเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้จัดงานโดยงานนี้มุ่งเน้นให้เกิดยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องอินเทอร์เน็ต และทิศทางโดยรวมของภูมิภาคเอเชียซึ่ง  ISOC ได้ร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที   สำนัก งานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.  และหน่วยงานพันธมิตรที่มีส่วนในการร่วมพัฒนาอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย จัดขึ้น ในหัวข้อ The Power to Create หรืออินเทอร์เน็ต : พลังแห่งการสร้างสรรค์

และจะไม่ใช่เป็นเพียงเวทีเสวนาวิชาการในเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการและบทบาทของอินเทอร์เน็ตที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศเท่านั้น แต่จะเป็นเวทีที่ผลักดันให้เกิดการรวมตัวของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งจากภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน

ไฮไลต์ของงานอยู่ที่การสัมมนา ใน 4 เรื่องหลัก คือ หมวดเทคโนโลยี ที่นำเสนอประเด็นด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว กับผลกระทบต่อการทำธุรกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

อย่างเช่น เทคโนโลยี ไอพีวี 6 (IPv 6) ที่พัฒนาขึ้นมา รองรับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  จนการกำหนดไอพี แอดเดรส (IP Address) ที่มีอยู่เริ่มไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และหากประเทศไทยนำไอพีวี 6 มาใช้งานจะเกิดผลกระทบอย่างไร  จับกระแสเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้ง ที่กำลังมาแรง

และอะไรคือเทคโนโลยี WebRTC ที่หลายคนในวงการ คาดว่าจะเปลี่ยนโฉมการใช้งานของอินเทอร์เน็ตในอนาคต งานนี้มีต้นแบบสาธิตจากเจ้าของเทคโนโลยีโดยตรง

นอกจากนี้ยังมีหมวดนวัตกรรม ที่นำเสนอเรื่องนวัตกรรมที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานทั้งในระดับองค์กร และพฤติกรรมของผู้ใช้  หมวดอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับความท้าทายและความกังวลที่เกิดขึ้นในสังคมข้อมูลข่าวสาร และเศรษฐกิจยุคดิจิทัล  และหมวดอนาคต นำเสนอประเด็นของอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับการลดช่องว่างด้านดิจิทัลและการวิจัยพัฒนาด้าน คลาวด์ คอมพิวติ้ง และ บิ๊ก ดาต้า

สำหรับพัฒนาการของอินเทอร์เน็ตในประเทศ ไทย  “ดร.ทวีศักดิ์  กออนันตกูล”   ผู้อำนวยการ สวทช. บอกว่า  25 ปีที่ผ่านมา  อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนแปลงระบบสื่อสารของคนทั่วโลกจากโทรศัพท์ราคาแพง กลายเป็นการหลอมรวมของสื่อ ทั้งอุปกรณ์ที่มีราคาถูก มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และมีเครื่องมือค้นหาข้อมูลที่ทรงพลัง จนกล่าวได้ว่า อินเทอร์เน็ตกลายเป็นของทุกคน

แต่ทว่าไทยก็ยังมีข้อจำกัดในการพัฒนาด้านอินเทอร์เน็ตอีกมาก ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน  ราคาอินเทอร์เน็ตที่ยังสูง ความล่าช้าของการบังคับใช้กฎหมายทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสิ่งที่สำคัญก็คือการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ความเข้าใจทางด้านซอฟต์แวร์

ส่วน 25 ปี ข้างหน้า  อนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น  ดร.ทวีศักดิ์  ฝากไว้ให้คิดว่า  อำนาจทางเศรษฐกิจ และการเมืองระดับโลกจะอยู่กับชาติใด  ย่อมขึ้นอยู่กับความพร้อมของคนในชาตินั้น ๆ

ซึ่งคงต้องถามตัวเองว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะยืนอยู่ในสังคมไซเบอร์จริงหรือไม่

เพราะ  “อินเทอร์เน็ต” ที่ทำให้โลกไร้พรมแดนนั้น เป็นได้ทั้งวิกฤติและโอกาส

อยากรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ชมได้ที่งาน INET Bangkok 2013 ระหว่างวันที่ 6-7-8 มิถุนายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดูรายละเอียดได้ที่ www.inetbangkok.in.th

รายการอ้างอิง :
มองอนาคตอินเทอร์เน็ตไทยใน INET Bangkok 2013. เดลินิวส์ (ไอที). วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2556.– ( 64 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ 7 = nine

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>