magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ลองกองหล่นไกลต้น
formats

ลองกองหล่นไกลต้น

นักวิทยาศาสตร์หอบ”ลองกอง”หนีปัญหาผลผลิตล้นตลาด ด้วยการแปลงร่างให้เป็นเครื่องสำอาง สร้างมูลค่าเพิ่มและอาชีพเสริมให้ชุมชน

นักวิทยาศาสตร์หอบ”ลองกอง”หนีปัญหาผลผลิตล้นตลาด ด้วยการแปลงร่างให้เป็นเครื่องสำอาง ตามรอยรุ่นพี่ที่ติดลมบนในตลาดมาแล้วทั้งไพลทานอยด์จากไพล พัฒนาโดยโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและการวิจัยทางเคมี (PERCH), Longanaria Siamese ครีมเมล็ดลำไยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และจีพีโอ เคอร์มิน ครีมขมิ้นชันขาวขององค์การเภสัชกรรม

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ไม่เคยหยุดที่จะคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้ชนิดนี้ ด้วยการแปรรูปได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็น เยลลี่ ลอยแก้ว แช่อิ่ม อบแห้ง แยมหรือคั้นเป็นเครื่องดื่ม และล่าสุดกับผลงานวิจัยเครื่องสำอางจากเปลือกลองกอง ในกลุ่ม เจลล้างหน้า โทนเนอร์ทำความสะอาดผิวหน้าและครีมพอกหน้า
เป้าหมายเพื่อให้ชาวสวนมีทางเลือกเพิ่มนอกจากการขายผลสด เป็นแปรรูปและจำหน่ายเป็นสินค้าโอท็อปสร้างรายได้ที่หลากหลาย

สวยด้วยธรรมชาติ

แม้ว่าเครื่องสำอางจากลองกองจะยังถือเป็น “วิจัยบนหิ้ง” ที่รอภาคเอกชนมารับลงหิ้งไปสู่ห้าง แต่โอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์จากลองกองมีสูงมาก โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศอย่างอียู อเมริกาและญี่ปุ่น ผู้บริโภคนิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ

“ผู้ประกอบการที่จะรับการต่อยอดโนฮาวน์ต้องมีความพร้อมของธุรกิจเป็นทุนเดิมด้วย จึงจะก้าวสู่ตลาดโลกที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักได้อย่างมั่นคง” ดร.ประไพภัทร คลังทรัพย์ นักวิจัยอาวุโสฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. กล่าว

ด้วยเหตุนี้ ในการวิจัยดังกล่าว ทีมงานเลือกใช้วัตถุดิบจากสวนเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก อีกทั้งในการพัฒนาสูตรเครื่องสำอางก็ยังไม่ใช้น้ำหอมและสารกันบูดเป็นส่วนผสม เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยหลังการผลิต

“แม้ลองกองจะเป็นวัตถุดิบใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง แต่อีกไม่นานจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ด้วยคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ความงามได้อย่างลงตัว และส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติโดยไม่ผสมสารเคมี” ปิยนุช สนิ นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง วว. กล่าว

หลังจากนี้ ทีมวิจัยจะนำผลิตภัณฑ์ไปศึกษาเชิงคลินิก รวมถึงศึกษาเรื่องประสิทธิภาพด้านการคงตัว อายุการเก็บรักษา คาดว่าก่อนสิ้นปีนี้น่าจะพร้อมส่งต่อองค์ความรู้ให้กับภาคเอกชนที่สนใจนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดย วว.จะเป็นพี่เลี้ยงให้ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งการทำตลาด

ทั้งยังมีแผนจะต่อยอดความรู้ไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่อไป เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่หลากหลายเหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากวัตถุดิบอื่น และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนในอนาคต

วิจัยยกระดับ

ดร.ประไพภัทร กล่าวีอกว่า การวิจัยและแปรรูปลองกองเริ่มเมื่อปี 2551 จากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี หลังจากเสด็จพื้นที่ 5 จังหวัดในภาคใต้แล้วพบปัญหาลองกองล้นตลาด โดยมีธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัย

ตลอด 5 ปีของการวิจัย วว.สามารถพัฒนาเครื่องล้างและปลิดขั้วลองกอง เครื่องคั้นน้ำลองกอง รวมถึงพัฒนาเทคนิคการยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวให้อยู่ได้นานถึง 14 วัน และนำไปขยายผลด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนได้สำเร็จ

“ลองกองเป็นวัตถุดิบใหม่ที่ยังไม่เคยแปรรูปมาก่อน เราต้องใช้เวลาสร้างฐานข้อมูลงานวิจัยอยู่เกือบ 2 ปี เช่น การศึกษาเรื่องสายพันธุ์ ประโยชน์ของเปลือก เนื้อ เมล็ด น้ำ จากนั้นทยอยทดลองและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ” นักวิจัย วว. กล่าว

ในการศึกษาพบว่า ผลไม้ชนิดนี้มีสรรพคุณเด่นด้านฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะอนุมูลอิสระชนิดที่มีอันตรายสูงต่อเซลล์ร่างกาย เช่น อนุมูลซูเปอร์ออกไซด์ อนุมูลไฮดรอกซี และโฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ รวมถึงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอีกด้วย

ด้วยสรรพคุณที่เข้ากับกระแสตลาด จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ลองกองจากสวนจะไปอยู่บนเคาน์เตอร์เครื่องสำอางในเร็วๆ นี้

(ฉลองครบรอบการสถาปนา 50 ปี วว. พบกับนิทรรศการผลงานช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ การสัมมนาวิชาการนานาชาติเชิงปฏิบัติการด้านพลังงานชีวมวล พร้อมเปิดตัวผลงานวิจัยใหม่ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผักและใยอาหารชนิดเม็ดแคลอรีต่ำ เครื่องสำอางจากสารสกัดฟักข้าว และเครื่องสำอางจากสารสกัดลองกอง ระหว่างวันที่ 4-6 ส.ค.นี้ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์)

รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. ลองกองหล่นไกลต้น. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม). วันที่ 30 พฤษภาคม 2556.

 – ( 191 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− four = 5

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>