ไม่ใช่เพราะกระแสหน้ากาก… แต่เป็นเพราะกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน “หน้ากากอนามัย” วิธีป้องกันตนเองแบบง่าย ๆ จึงเป็นที่สนใจอีกครั้ง ก่อนที่โรคติดต่อจะระบาดมาเยือน
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงต่อยอดพัฒนาหน้ากากอนามัย “n-Mask” ที่เน้นถึงการใช้งานของหน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้งเป็นหลัก
“ดร.นฤภร มนต์มธุรพจน์” นักวิจัยจากเอ็มเทค กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาผงวัสดุเชิงประกอบของ “ไฮดรอกซีอาปาไทต์ไททาเนียมไดออกไซด์” เป็นวัสดุที่พัฒนาขึ้นและอาศัยคุณสมบัติของวัสดุ 2 ชนิด คือ ไฮดรอกซีอาปาไทต์ และไททาเนียมไดออกไซด์หรือไททาเนียโดยไฮดรอกซีอาปาไทต์ เป็นวัสดุเซรามิกที่มีส่วนประกอบใกล้เคียงกับกระดูกธรรมชาติ นิยมนำมาใช้งานทางด้านการแพทย์ เช่น เป็นวัสดุทดแทนกระดูกมนุษย์ มีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถจับยึดไวรัส แบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ ได้
ส่วนไททาเนียมไดออกไซด์หรือไททาเนีย เป็นวัสดุเซรามิกที่มีคุณสมบัติเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลายโมเลกุลของสารอินทรีย์ เช่น สารพิษ แบคทีเรีย ไวรัส จุลินทรีย์ หรือกลิ่น ภายใต้สภาวะแสง ให้อยู่ในรูปของโมเลกุลอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กและไม่เป็นอันตราย
ทั้งนี้ วัสดุเชิงประกอบของไฮดรอกซีอาปาไทต์ไททาเนียมไดออกไซด์จะทำงาน โดยยึดจับสารอินทรีย์หรือจุลินทรีย์ เช่น ไวรัส และแบคทีเรีย ไว้บนผิวของไฮดรอกซีอาปาไทต์
ในขณะที่ไททาเนียมไดออกไซด์จะช่วยเร่งการย่อยสลายของสารอินทรีย์หรือจุลินทรีย์ ที่ถูกจับยึดไว้ จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันสารอินทรีย์ที่เป็นพิษและจุลินทรีย์ได้ดีขึ้น
ดร.นฤภร บอกว่า จากความสำเร็จในการวิจัยผงวัสดุเชิงประกอบดังกล่าว ได้นำมาใช้กับหน้ากากอนามัย n-Mask ทำให้ผลิตภัณฑ์มีจุดเด่นและต่างไปจากหน้ากากอนามัยอื่น ๆ ตรงที่หน้ากากอนามัยส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยผ้าจำนวน 3 ชั้น ซึ่งความสามารถในการกรองอนุภาคขึ้นอยู่กับขนาดของช่องว่างระหว่างเส้นใยในผ้าซึ่งก็แตกต่างกันไปตามคุณภาพของผ้าที่ใช้ ขณะที่หน้ากาก n-Mask จะประกอบด้วยผ้ากรองอากาศจำนวน 4 ชั้น โดยชั้นที่ 2 ของหน้ากากจะเคลือบวัสดุเชิงประกอบของไฮดรอกซีอาปาไทต์ไททาเนียมไดออกไซด์ ที่มีคุณสมบัติในการจับยึดไวรัส แบคทีเรียและจุลินทรีย์ และกำจัดสารพิษ
นอกจากนี้ในผ้าใยชั้นที่ 3 ยังมีขนาด ของช่องว่างระหว่างเส้นใยที่เล็กมาก ๆ เพื่อช่วยกรองอนุภาคเพิ่มอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นจึงทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อใช้แล้วจะปลอดภัยจากเชื้อโรค
ซึ่งการใช้งานก็จะเหมือนกับหน้ากากอนามัยทั่วไป แต่จะมุ่งเน้นกำจัดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสสำหรับป้องกันโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 และโรคหอบหืด ฯลฯ
ปัจจุบันหน้ากากอนามัย n-Mask ผ่านการทดสอบการใช้งานแล้ว โดยนำวัสดุเชิงประกอบของไฮดรอกซีอาปาไทต์ไททาเนียมไดออกไซด์ เคลือบลงบนผ้านอนวูฟเวน พบว่า ผ้าเคลือบวัสดุเชิงประกอบดังกล่าว สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและไวรัสได้ถึง 50% และ 70% ตามลำดับภายใต้แสงยูวีและนี่ก็คือผลงานที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยต่อยอดองค์ความรู้ ความสามารถของนักวิจัยไทย ที่บางครั้งอาจไม่เห็นผลทันใจ เหมือนการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ.
รายการอ้างอิง :
n-Mask หน้ากากอนามัยป้องกันไวรัสและแบคทีเรีย. เดลินิวส์ (ไอที-ฉลาดคิด). วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2556.– ( 65 Views)