ปัจจุบัน “เทคโนโลยีชีวภาพ” ถูกนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ที่หลากหลายทั้งการแพทย์ การเกษตร รวมถึงด้านอุตสาหกรรมอาหาร ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง
ล่าสุด.. ไบโอเทคหรือศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เปิดบ้านโชว์เทคโนโลยีชีวภาพอาหาร เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในภาคอุตสาหกรรม
“ดร.วรรณพ วิเศษสงวน” ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร ไบโอเทค/สวทช. บอกว่า ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยต้องนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้ ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการไทยได้อย่างเต็มที่ไบโอเทค ซึ่งมีจุดแข็งในด้านการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพและมีธนาคารจุลินทรีย์ที่ได้มาตรฐานระดับโลกจะสามารถเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ
โดยนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ เข้าไปช่วยแก้ปัญหาทั้งระบบของกระบวนการผลิต
เพื่อเพิ่มผลผลิตลดต้นทุนลดการสูญเสีย ปรับปรุงคุณภาพ และสามารถนำของเหลือจากการผลิตมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
ตัวอย่างผลงานเด่น นอกจากแหนมไบโอเทค ที่รู้จักกันมานานแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับการผลิต น้ำปลา เครื่องปรุงรสที่ประเทศไทยผลิตและส่งออกมากที่สุดในโลก
ซึ่งหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพอาหารไบโอเทค ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการไทย พัฒนาวิธีการหมักน้ำปลาโดยใช้เอนไซม์เร่งการย่อยสลายโปรตีน และสร้างสารให้กลิ่นและรส ทำให้ลดระยะเวลาในการหมักจากปกติ 18 เดือน เหลือเพียง 11 เดือนเท่านั้น แถมน้ำปลาาที่ได้ยังมีคุณภาพเทียบเท่าการหมักแบบเดิม แม้จะมีกลิ่นอ่อนกว่าแต่ก็เป็นที่ยอมรับและเหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศและคนรุ่นใหม่มากขึ้น
ส่วนผลงานล่าสุด ดร.วรรณพ บอกว่าภายในปีนี้ จะมีการเปิดตัวผลงานการวิจัยจุลินทรีย์ที่ใช้สำหรับหมักผักกาดดองเปรี้ยว ซึ่งมีมูลค่าตลาดใหญ่มากในเมืองไทย ซึ่งต้องรอดู
กันว่า จุลินทรีย์สายพันธุ์ไหน ช่วยทำให้ผักกาดดองถูกใจนักชิมเมืองไทย
จากฐานความรู้ด้านจุลินทรีย์ ที่สะสมมากกว่า 10 ปี และเป็นจุลินทรีย์ที่เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศ มุ่งเน้นการนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารหมักและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ รวมถึงความปลอดภัยด้านอาหาร
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ดร.วรรณพ บอกว่าจะถูกบูรณาการ ทั้งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย ความเชี่ยวชาญจากนักวิจัยไบโอเทค รวมถึงเครือข่ายวิจัยทั่วประเทศ เพื่อ
ให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ
เรียกว่า ทุกปัญหา เมื่อก้าวเข้ามาจะสามารถใช้บริการได้แบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียวภายในศูนย์ที่เรียกว่า “ศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์” หรือ Food and Feed
Innovation Center ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้.
รายการอ้างอิง :
เปิดแล็บ ‘เทคโนโลยีชีวภาพอาหาร’ ดึงผู้ประกอบการใช้จุลินทรีย์เมืองไทย. เดลินิวส์ (ฉลาดคิด). วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2556.– ( 83 Views)