วันนี้ (18 พ.ค.) ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเป็นเช้าวันที่ 17 พ.ค.ตามเวลาท้องถิ่นของอเมริกา ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ (@Travel_DN) รายงานสดผ่านทวิตเตอร์จากการแข่งขันรอบตัดสินในรายการ Intel International Science and Engineering Fair 2013 ที่ฟีนิกซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดโดยบริษัท อินเทล ซึ่งมีตัวแทนจากนานาประเทศในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 600 โครงงาน จาก 17 ประเภทการแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันเวทีนี้มีนักเรียนไทย 5 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน
ผลปรากฏว่า ทีมนักเรียนไทยสามารถคว้ามาได้ทั้งหมด 3 รางวัล ประกอบด้วย ทีมจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งทำโครงงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม “การศึกษาประสิทธิภาพของดินฟอกสี ของเหลือจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มกับความสามารถในการดูดซับโลหะทองแดง” คว้ารางวัลที่ 3 มาครอง ส่วนทีมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งทำโครงงานวิทยาศาสตร์ด้านพืชเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อการตอบสนองของกาบหอยแครง” ได้รับรางวัลอันดับที่ 4 เช่นเดียวกับทีมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งทำโครงงานทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม “เครื่องยนต์สเตอริ่งสันดาปภายนอกโดยใช้ไบโอก๊าซ” ที่ได้รับรางวัลอันดับที่ 4
สำหรับโครงงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม “การศึกษาประสิทธิภาพของดินฟอกสี ของเหลือจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มกับความสามารถในการดูดซับโลหะทองแดง” ผลงานของ น.ส.อภิษฎา จุลกทัพพะ จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นโครงงานที่คิดค้นขึ้นเพราะเล็งเห็นว่าในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจำเป็นจะต้องมีการใช้ดินฟอกสีเพื่อเปลี่ยนน้ำมันปาล์มสีแดงมาเป็นน้ำมันพืชสีเหลืองอย่างที่เห็น โดยในแต่ละวันมีกากของเสียที่เป็นดินฟอกสีซึ่งจะต้องนำเข้าดินภูเขาไฟจากประเทศอินโดนีเซียมาใช้ในกระบวนการเป็นจำนานมากถึง 20 ตัน/เดือน หรือ 23,000 ตัน/ปี แต่เดิมดินฟอกสีที่เหลือเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการทำปุ๋ยหรือผสมในอาหารสัตว์ แต่ต่อมามีกฎหมายห้ามดินฟอกสีจึงกลายเป็นปัญหาที่อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันจะต้องหาทางกำจัดด้วยการฝังกลบ แต่ผู้วิจัยเห็นว่าดินฟอกสีเหล่านี้ยังน่าจะมีประโยชน์จึงได้นำมาทดลองบำบัดน้ำเสียที่มีองค์ประกอบของทองแดงผสมอยู่ โดยพบว่ามีประสิทธิภาพในการดูดซับถึงร้อยละ 96 ในน้ำ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดงานวิจัยเพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียแบบระบบปิดจากอุตสาหกรรมชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย และดินฟอกสีก็จะไม่เป็นเพียงขยะอุตสาหกรรมอีกต่อไป
ส่วนผลรางวัลแกรนด์ไพรซ์ หรือ Intel International Science and Engineering Fair Grand Awards Ceremony ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในเวที ISEF 2013 โดยมีเงินรางวัล 75,000 ดอลลาร์ ตกเป็นของนักเรียนชาวโรมาเนียวัย 19 ปี เจ้าของผลงานโปรแกรมขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติราคาประหยัด โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างราว 4,000 ดอลลาร์ ได้รับรางวัล กอร์ดอน อี. มัวร์ รางวัลพิเศษจากการสนับสนุนของมูลนิธิอินเทล หลังคว้ารางวัลอันดับ 1 ด้าน Computer Science ในงานเดียวกัน แนวคิดของโครงงานนี้เกิดขึ้นจากการที่ไอโอนัท พบว่า แต่ละปีมีคนต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์กว่า 2.5 ล้านคน โดยสาเหตุกว่าร้อยละ 87 มาจากความบกพร่องของผู้ขับขี่ ดังนั้นจึงคิดค้นโปรแกรมที่สามารถควบคุมการบังคับทิศทางของรถ ให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎจราจร ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้
รายการอ้างอิง :
เด็กไทยคว้า 3 รางวัลเวที “ISEF 2013”. เดลินิวส์ (ไอที). วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2556.– ( 63 Views)