magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home ข่าววิทยาศาสตร์ รู้เท่าทันภัยธรรมชาติโดมความร้อน-ฟ้าผ่า
formats

รู้เท่าทันภัยธรรมชาติโดมความร้อน-ฟ้าผ่า

เกาะความร้อน ภาพจาก weatherquestion.com

รับอาสาถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย เกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่มาพร้อมกับหน้าฝน โดยเฉพาะในอีกหลากหลายแง่มุมของกระแสข่าวเรื่อง “ปรากฏการณ์โดมความร้อนครอบคลุมกรุงเทพมหานคร” จนเป็นเหตุให้กรุงเทพฯ มีฝนตกหนักมากขึ้น สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวกรุงได้ไม่น้อยในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

ไม่ใช่…ไม่ตระหนัก เพียงแต่ไม่ควรตระหนกถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น…

เพราะเรื่องนี้ “ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์” อาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เกิดขึ้นมานานแล้วกว่า 20 ปี
เพียงแต่ปัจจุบันปรากฏการณ์โดมความร้อน หรือเกาะความร้อน (Urban heat Island) ที่เคยเกิดขึ้นเฉพาะเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน อาจจะขยายเป็นวงกว้างออกไปตามขนาดของเมือง

และไม่ใช่เป็นเฉพาะกับกรุงเทพฯ แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก ที่มีความเจริญเติบโตทางด้านวัตถุสูง อาคารตึกสูง ดูดซับความร้อน กีดขวางทางลม ความหนาแน่นของประชากร ทำให้มีกิจกรรมเผาผลาญเชื้อเพลิงมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ การจราจรที่ติดขัด และพื้นที่การปลูกต้นไม้ที่ลดลง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบทางลบสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ตอนเย็นอุณหภูมิต่ำลงแทนที่จะเย็น กลับร้อนระอุ เพราะความร้อนที่คายออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ กลายเป็นโดมความร้อนปกคลุมกรุงเทพฯ อยู่ตลอดเวลา และปิดกั้นการถ่ายเทอากาศจากภายนอก

ดร.สธน บอกว่า ปรากฏการณ์นี้ส่วนใหญ่จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนในช่วงฤดูหนาว และเป็นสาเหตุ
สำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ มีอุณหภูมิไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก หรือหน้าหนาวไม่หนาวเหมือนกับภาคอื่น ๆ เรียกว่ามีสภาพอากาศที่เฉพาะของกรุงเทพฯ อย่างเดียว

นอกจากนี้ ตามหลักวิชาการแล้ว คิดว่าโดมความร้อน ไม่น่าจะมีผลต่อการทำให้เกิดฝนตกหนักมากขึ้นกว่าปกติในเขตกรุงเทพฯ ในขณะนี้ เพราะเปรียบเสมือนฉากกั้น ลดความแรงของลมมรสุมหรือร่องความกดอากาศที่จะผ่านเข้ามา ฝนจึงน่าจะตกบริเวณปริมณฑลหรือตามขอบโดมความร้อนที่เกิดขึ้นมากกว่า

ส่วนความร้อนที่สะสมภายในโดมความร้อนในช่วงบ่าย อาจมีผลบ้างต่อการทำให้เกิดฝนตกในช่วงเย็น หรือที่เรียกว่าฝนราชการ

สำหรับแนวทางแก้ไขเรื่องปรากฏการณ์โดมความร้อนนี้ ดร.สธน บอกว่า โดมความร้อนสร้างปัญหามลพิษ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงไม่ต่างไปจากการช่วยกันลดสภาวะโลกร้อนนั่นเอง

…คลายความตระหนก…แล้วกลับมาดูภัยใกล้ตัวที่มาพร้อมกับช่วงมรสุมดีกว่า

ภัยที่ว่านี้ก็คือ “ฟ้าผ่า” ที่คร่าชีวิตผู้คน ไปไม่น้อยในแต่ละปี

“อาจารย์บุศราศิริ ธนะ” อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า จากข้อมูลของนาซา พบว่าประเทศไทยมีความถี่ในการเกิดฟ้าผ่าเฉลี่ย 15 ครั้งต่อพื้นที่ตารางกิโลเมตรต่อปี ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก และจะเกิดมากในช่วงเปลี่ยนฤดู ซึ่งมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน และเกิดฝนฟ้าคะนอง เช่น ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. และช่วงเดือน ต.ค. ของทุกปี

ทั้งนี้จากการทำวิจัยเก็บข้อมูลด้านฟ้าผ่าร่วมประเทศญี่ปุ่น พบว่าสถานการณ์ฟ้าผ่าของประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นมากกว่าปกติ เพียงแต่ประชาชนอาจจะไม่ตระหนักและรู้เท่าไม่ถึงการ ทำให้แนวโน้มการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมีสูงมากขึ้นในทุก ๆ ปี

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือการให้ความรู้เรื่องฟ้าผ่ากับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งหรือในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงต่าง ๆ

ฟ้าผ่าเกิดจากเมฆฟ้าคะนองหรือที่เรียกว่าเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งจะมีสีดำทะมึน อาจมีฟ้าแลบและฟ้าร้องตามมาเป็นระยะ

หากต้องอยู่ในสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดฟ้าผ่า อาจารย์บุศราศิริ แนะนำว่า ควรหลบในตัวอาคารที่มิดชิด มั่นคง ไม่ควรหลบภัยบริเวณใต้ต้นไม้สูง หากไม่มีที่หลบให้ขดตัวให้เล็ก ต่ำที่สุด และลดพื้นที่สัมผัสกับพื้นให้มากที่สุด

หากนั่งอยู่ในรถห้ามจับโครงสร้างรถที่เป็นโลหะ และที่สำคัญห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะที่ฝนตกเด็ดขาด

หากยังไม่รู้อีกว่าจะเกิดฟ้าผ่าหรือไม่ ดร.สธน บอกว่า สัญญาณเตือนง่าย ๆ และใช้ได้ชัวร์ ก็คือ เมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้งเกิดฝนฟ้าคะนองแล้วรู้สึก “ขนลุก ผมตั้งชี้” แสดงว่าฟ้ากำลังจะผ่า แม้ไม่ได้สาบานอะไรไว้ ก็ต้องรีบออกมาจากบริเวณนั้นทันที !!!.

รายการอ้างอิง :
นาตยา คชินทร. รู้เท่าทันภัยธรรมชาติโดมความร้อน-ฟ้าผ่า. เดลินิวส์ (ไอที). วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2556.– ( 38 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ three = 12

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>