magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home NSTDA ตั้งศูนย์ประสานงานเปลี่ยน’IPv6”ไอซีที’รับบทแม่งาน-’เนคเทค’ห่วงภัยไซเบอร์พุ่ง
formats

ตั้งศูนย์ประสานงานเปลี่ยน’IPv6”ไอซีที’รับบทแม่งาน-’เนคเทค’ห่วงภัยไซเบอร์พุ่ง

จับตาการเปลี่ยนผ่านสู่ IPv6 กระทรวงไอซีทีรับบทแม่งานยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งศูนย์ประสานงานให้คำปรึกษาทำแผน 3 ปี “หน่วยงานรัฐ-ไอเอสพี- ผู้ให้บริการ” พัฒนาระบบและให้บริการเชื่อมต่อบนมาตรฐานใหม่ “เนคเทค” เผยต้องยกเครื่องใหม่หมดจาก “เวอร์ชั่น 4 เป็น 6″ โดยเฉพาะระบบป้องกันภัยไซเบอร์ ทั้งห่วงเป็นระบบใหม่ที่ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญในไทย

นายโกเมน พิบูลย์โรจน์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า การเปลี่ยนไอพีอินเทอร์เน็ตจากเวอร์ชั่น 4 (Internet Protocol version 4 : IPv4) เป็นเวอร์ชั่น 6 (IPv6) ทำให้ประสบการณ์ของการบุกเบิกนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ในไทยเมื่อ 25 ปีก่อนหวนคืนมาอีกครั้ง เนื่องจากต้องมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับระบบใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะ เกิดอะไรขึ้น ที่สำคัญยังไม่มี ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ IPv6          “มองข้ามปัญหาการเชื่อมต่อด้านฮาร์ดแวร์ไปก่อน เพราะทุกคนหวังไว้ว่ามันจะทำงานรันระบบได้อย่างสมูท มองแค่ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ต้องบอกว่า ดูระบบเก่า ประสบการณ์เก่าของเวอร์ชั่น 4 ไม่ได้เลย เพราะทุกอย่างใหม่หมด การเก็บล็อกไฟล์ การวิเคราะห์ล็อกไฟล์ ทุกอย่างเป็นความรู้ใหม่ ต้องใช้การเก็บข้อมูลด้วยระบบแมนวล และยังไม่มีทีมเฉพาะที่ทำบนเวอร์ชั่น 6 ได้ ก็ต้องมาถามว่าแล้วใครจะเป็นคนทำ”

ที่สำคัญไอพีเวอร์ชั่นนี้แต่ละประเทศมีแบบฟอร์มการระบุตัวเลขต่างกัน หรือเมื่อก่อนมี IP Blacklist ที่บอกได้ว่า IP นี้ชอบปล่อยไวรัส มัลแวร์ แต่พอเปลี่ยนมาเป็น IPv6 เลขไอพีทั้งหมดจะเปลี่ยนไป เท่ากับต้องเริ่มเก็บข้อมูลกันใหม่

ดังนั้นหลายอย่างต้องพึ่งไกด์ไลน์ IPv6 จำนวน 188 หน้าของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เป็นหลักได้

นอกจากนี้ ไอพีที่เพิ่มขึ้นจาก IPv4 ที่มีประมาณ 4 พันล้านไอพี เป็น 340 ล้านล้านล้านล้านไอพี ในเวอร์ชั่น 6 ทำให้อุปกรณ์เครื่องใช้ทุกประเภทมีเลขไอพี ไม่ว่าจะเป็นทีวี ตู้เย็น ซึ่งตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ระบุว่า ผู้ให้บริการต้องเก็บล็อกไฟล์ไว้ 90 วัน เท่ากับผู้ใช้ตามบ้านมีหน้าที่เก็บข้อมูล พวกนี้ด้วย เมื่อผู้ใช้งานทุกระดับมีเลข ไอพีเป็นของตนเอง เท่ากับทุกคนกลายเป็นเป้าหมายการโจมตีของอาชญากรไซเบอร์ได้ จากเดิมที่เกิดขึ้นในระดับผู้ให้บริการเป็นหลัก

ด้าน น.ส.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ นักวิจัยด้านเครือข่าย เนคเทค กล่าวว่า THNIC (มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย) เริ่มนำ IPv6 เข้ามาทดลองใช้ตั้งแต่ ปี 2548 แต่ปัจจุบันการใช้งานยังจำกัดในสถาบันการศึกษา และหน่วยงานวิจัย สำหรับโครงข่ายภาครัฐ (GIN) ได้มีการสำรวจความพร้อมเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2555 พบว่าอุปกรณ์โครงข่าย 51% พร้อมรองรับ IPv6 แต่ในส่วนของ web.th มีเพียง 314 โดเมนเท่านั้นที่เข้าถึงผ่าน IPv6 ได้

ขณะที่ผู้แทนจาก บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวตรงกันว่า โครงข่ายโทรคมนาคมของทั้ง 2 บริษัท พร้อมให้บริการ IPv6 กับลูกค้าระดับองค์กรที่ร้องขอเข้ามาแล้ว แต่ในส่วนของลูกค้ารายย่อยทั่วไปต้องรออัพเกรดอุปกรณ์ คาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ภายในปลายปีนี้

นายธนะพล จันทวสุ รองผู้อำนวยการ สายงานโครงข่าย บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด กล่าวว่า บริษัทเตรียมโครงข่ายเพื่อนำ IPv6 มาใช้ตั้งแต่ปี 2547 และเริ่มนำมาให้บริการลูกค้าตั้งแต่ปี 2550 ถือว่ามีทราฟฟิก IPv6 ใช้งานอยู่จริงบน โครงข่ายทรู แต่ลูกค้าที่ใช้งานตามบ้านกำลังเตรียมทีมงานซัพพอร์ต เช่นเดียวกับลูกค้าโมบายเน็ตเวิร์ก

“ปัญหาที่เจอคือ ลูกค้าองค์กรมองว่าการขาดแคลนเลขหมายไอพีเป็นปัญหาของ ISP (ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) ไม่ใช่ปัญหาของผู้ใช้ และยังไม่มีคอนเทนต์ที่จะจูงใจให้ย้ายไปใช้ IPv6 จึงมีลูกค้าแค่บางกลุ่มเห็นความสำคัญของการใช้ IPv6 จึงไม่ใช่แค่ปัญหาโครงข่าย แต่มีปัจจัยภายในองค์กร ทั้งฮาร์ดแวร์ที่รองรับ งบฯที่ต้องใช้ในการเปลี่ยนระบบ อยากให้องค์กร ต่าง ๆ ศึกษาข้อมูลเรื่องนี้ ก่อนที่จะมี Killer app บน IPv6 ออกมา หรือรอจนถึงเวลาที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแล้วค่อยมาศึกษาอาจช้าเกินไป”

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงความคืบหน้าของการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 ในประเทศไทยว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2556 มอบหมายให้กระทรวงไอซีที เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการแผนงานที่จะเป็นไกด์ไลน์ในการเปลี่ยนไอพี จากเวอร์ชั่น 4 เป็นเวอร์ชั่น 6 และยกให้เป็นวาระแห่งชาติ

สำหรับแผนปฏิบัติการระยะดำเนินการ 3 ปี (ปี 2556-2558) กำหนดเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2556 สำนักงานปลัดกระทรวงไอซีทีจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและปฏิบัติ การ IPv6 เพื่อให้คำปรึกษา อบรม ทดสอบ ตรวจประเมินด้าน IPv6 ของประเทศไทย และในปี 2557 ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย ครอบคลุมผู้ให้บริการในระบบใช้สายและไร้สาย ต้องเปิดให้บริการเชื่อมต่อ และใช้งานที่รองรับ IPv6 ได้

และในปี 2558 หน่วยงานภาครัฐระดับกรมขึ้นไปทุกหน่วยงาน รวมถึงสถาบันการศึกษาของรัฐทุกระดับ อย่างน้อย 10,000 แห่ง ต้องมีการเชื่อมต่อสู่อินเทอร์เน็ตที่รองรับ IPv6 ให้สามารถใช้งาน IPv6 ได้

รายการอ้างอิง :
ตั้งศูนย์ประสานงานเปลี่ยน’IPv6”ไอซีที’รับบทแม่งาน-’เนคเทค’ห่วงภัยไซเบอร์พุ่ง. ประชาชาติธุรกิจ. ฉบับวันที่ 24 – 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556.– ( 90 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


nine − 8 =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>