ประเทศไทยประสบปัญหาทางด้านอุบัติเหตุทางถนน โดยมีสถิติสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติ เหตุนั้น มีทั้ง รถ ถนน และ คน ซึ่งในส่วนของรถและถนนนั้น สามารถที่จะป้องกันได้ด้วยการออกแบบด้านวิศว กรรมที่มีความปลอดภัยสูง
แต่ “คน” กลับกลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุด และแก้ไขได้ยากที่สุด
ดังนั้นหากเราสามารถที่จะตรวจจับพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายในการขับขี่ได้ ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องกัน ก่อนที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ
และนี่ก็คือที่มาของ “โครงการพัฒนา การประยุกต์ใช้ระบบระบุตำแหน่งยุคหน้าเพื่อความปลอดภัยในยานพาหนะ” ผลงานของนายรักษิต ฐิติพัฒนพงศ์ และนายสัญญา คล่องในวัย สองนักวิจัย จากหน่วยวิจัยสารสนเทศ การสื่อสาร และการคำนวณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)
“รักษิต” อธิบายถึงโครงการดังกล่าวว่า เป็นการประยุกต์ใช้ข้อมูลระบุพิกัดตำแหน่ง (Latitude, Longitude) จากระบบดาวเทียมระบุพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลกมาใช้ตรวจจับ
พฤติกรรมการขับขี่ในยานพาหนะ
โดยเน้นประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากระบบดาวเทียมระบุพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลก มาวิเคราะห์พฤติกรรมการขับขี่ยานพาหนะ ด้วยเทคโนโลยีอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม Multi-GNSS (Global Navigation Satellite System) ที่มีความสามารถสูงกว่าระบบระบุตำแหน่ง (GPS) ในปัจจุบัน
สามารถรับสัญญาณได้ทั้งระบบดาวเทียมนำร่อง GPS ของสหรัฐ GLONAS ของรัสเซีย และ QZSS ของญี่ปุ่น
ซึ่งข้อดีของระบบ Multi-GNSS คือ สามารถใช้ประโยชน์จากดาวเทียมนำร่องได้หลายระบบ เพิ่มความแม่นยำจากข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนดาวเทียม มีความถี่ในการแจ้งข้อมูลพิกัดสูง 1 Hz-20 Hz โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมจากองค์การสำรวจอวกาศแห่ง ประเทศญี่ปุ่น หรือแจกซ่า
นักวิจัยบอกว่า โครงการนี้เริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันได้ทำการทดสอบและ
วิเคราะห์ความเป็นไปได้ ด้วยการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ Multi-GNSS กับอุปกรณ์วัดการเปลี่ยนตำแหน่งชั่วขณะของยานพาหนะ
จากการประเมินอัตราเร่งเมื่อยานพาหนะเลี้ยวโค้ง ผลที่ได้อยู่ในระดับที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมการขับขี่ยานพาหนะได้
ทั้งนี้ในอนาคต จะมีการนำไปต่อยอดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจจับและควบคุมพฤติกรรมการ ขับขี่ยานพาหนะ นอกเหนือจากในปัจจุบันที่ใช้การตรวจจับอัตราเร็วได้แต่เพียงอย่างเดียว
โดยระบบใหม่นี้ จะเพิ่มขีดความสามารถให้กับระบบเดิม ๆ ทำการตรวจจับการออกตัวที่รุนแรง หรือกระชาก การเบรกกะทันหัน การเปลี่ยนช่องจราจรไปมาอย่างรวดเร็ว
และที่สำคัญคือการเลี้ยวรถที่ไม่ปลอดภัย
ข้อมูลเชิงพฤติกรรมเหล่านี้ สามารถที่นำมาประเมินผู้ขับขี่ เพื่อแยกผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรม หรือมีแนวโน้มพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายออกจากผู้ขับขี่ที่ดีได้
เห็นประโยชน์กันแล้ว . คงอยากให้มีการพัฒนาต่อยอดโดยเร็ว เพื่อนำมาใช้ โดยเฉพาะกับผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ ที่นับวันความปลอดภัยเริ่มหาได้น้อยลงทุกที.
แหล่งที่มา : นาตยา คชินทร. ตรวจจับพฤติกรรมเสี่ยงในการขับรถ. เดลินิวส์ (กรอบบ่าย.) ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556.– ( 82 Views)