magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก โปรตีนไขมันต่ำ…กินได้
formats

โปรตีนไขมันต่ำ…กินได้

หลังสหประชาชาติรณรงค์ให้ชาวโลกหันมาบริโภคแมลง ทำให้หลายคนหันมาสนใจ “แมลง”ที่ได้ชื่อว่าเป็นโปรตีนที่มีไขมันต่ำ ไฟเบอร์สูง

หลังจากสหประชาชาติรณรงค์ให้ชาวโลกหันมาบริโภคแมลง เพื่อลดปัญหาความอดอยากที่กำลังเกิดขึ้นในหลายแห่งบนโลกใบนี้ กลายเป็นประเด็นที่ทำให้หลายคนหันมาสนใจ “แมลง”ที่ได้ชื่อว่าเป็นโปรตีนที่มีไขมันต่ำ ไฟเบอร์สูง

ความจริงวัฒนธรรมการบริโภคแมลงเป็นอาหาร ของคนไทย ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมานานโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งมีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วย “แมลง” ซึ่งเป็นโปรตีนราคาถูกหาง่าย รสชาติดีเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์ ในประเทศไทยมีแมลงมากกว่า 50 ชนิดที่นำมารับประทานเป็นอาหารได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีผู้คนกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลกบริโภคแมลงเป็นอาหาร
แมลงกินได้ที่ติดชาร์ทอันดับหนึ่งในประเทศไทย คือ ตั๊กแตนปาทังกา ซึ่งมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับแมลงและตั๊กแตนอื่นๆมีลำตัวยาว 6 – 7 เซนติเมตรสันกระโหลกมีแถบสีครีมทอดตามยาวจากส่วนหน้าไปต่อกับแถบสันหลัง อกซึ่งมีสีเดียวกันพบตามไร่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง นิยมรับประทานโดยการทอด แกง หรือผัดและมีขายทั่วไป จากการศึกษาของ พริมา ยนตรรักษ์ เจ้าของโครงงานวิทยาศาตร์เชิงสำรวจ แมลงกินได้ พบว่า ตั๊กแตนปาทังกา 100 กรัมให้พลังงานสูงถึง 175.86กิโลแคลอรี แถมยังอุดมไปด้วยโปรตีนและแคลเซียม

ถัดมาเป็น แมลงกระชอน มีสีน้ำตาล ความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ลักษณะที่สำคัญคือมีขาหน้ากว้าง มีรูปร่างคล้ายอุ้งมือ ใช้ในการขุดดิน เป็นแมลงที่อาศัยอยู่ในดิน ชอบความชุ่มชื้น โดยขุดรูอยู่ใต้ดิน ต่ำกว่าผิวดินประมาณ 6 – 8 นิ้ว นิยมนำมาเป็นอาหารโดยการทอด คั่ว นึ่ง หมกแกง ยำ ลาบ

ตามมาด้วย จิ้งหรีด เป็นแมลงที่มีอวัยวะทำเสียงในตัวผู้อยู่ตามขอบปีกคู่หน้า จึงใช้ปีกคู่หน้าถูกันให้เกิดเสียงมีหลายชนิด เป็นแมลงที่ไม่ชอบแสงสว่าง อยู่ตามคันนา ทุ่งหญ้า ออกจากรูในตอนกลางคืน นิยมนำมาเป็นอาหารโดยเสียบไม้ย่าง คั่ว ตำน้ำพริก ปัจจุบันนี้จัดได้ว่าจิ้งหรีดเป็นแมลงเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ที่สามารถทำรายได้ให้กับชาวบ้าน มีการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมรายได้ ในหลายจังหวัด โดยจิ้งหรีด 100 กรัมให้พลังงาน 121.5 กิโลแคลอรี

หนอนเยื่อไผ่ หรือรถด่วน รถไฟ เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง มีสีน้ำตาลส้ม ปีกคู่บนมีลวดลายหยักเป็นเส้นโค้งสีดำ ตัวเมียใหญ่กว่าตัวผู้ ตัวผู้มีขนาด 2 เซนติเมตร ตัวเมียเต็มวัยเมื่อผสมและวางไข่แล้วจะตาย ไข่จะถูกวางตามโคนหน่อไผ่และตามกาบใบ เมื่อฟักเป็นตัวอ่อนก็จะรวมตัวกัน เคลื่อนย้ายเดินทางเป็นขบวนยาวอย่างเป็นระเบียบ เพื่อไปหาปล้องไผ่ที่เหมาะสม หลังจากนั้นก็จะช่วยกันเจาะรูเพื่อเข้าปล้องไผ่ กินเนื้อไม้อ่อนและเยื่อไผ่ภายในปล้อง หนอนเยื่อไผ่เป็นแมลงที่นิยมบริโภคกันมากในภาคเหนือ โดยการทอดกรอบถือเป็นเมนูอาหาร จานเด็ดตามร้านอาหารและภัตตาคาร เป็นอาหารเสริมที่มีรสชาติอร่อย มีคุณค่าและประโยชน์ต่อร่างกายมีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ รับประทานได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ระหว่างเดือนตุลาคมถึงมกราคมปีถัดไป

จักจั่น เป็นแมลงขนาดโต มีปีกคู่หน้าใส เนื้อปีกมีลักษณะและขนาดความหนาเท่ากันตลอดทั้งแผ่นปีก ส่วนหัวและอกกว้างตัวเรียวเล็กไปทางหาง ตากลมโตเห็นได้ชัดเจน และอยู่ตรงมุมสองข้างของศีรษะ ตัวผู้มีอวัยวะพิเศษสำหรับทำเสียง ส่วนใหญ่เพื่อการหาคู่ผสมพันธุ์ พบได้ตามต้นไม้ใหญ่ บริโภคโดยการทอดคั่ว ตำน้ำพริกมะม่วง

มดแดง ที่นิยมนำมาบริโภค คือ มดงานซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ ตัวมีสีแดง ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ไม่มีปีก มีก้านบนสันหลังและส่วนท้องปล้องที่ 1,2 มีลักษณะเป็นปุ่มปม มีหนวดหักเป็นข้อศอก มีหน้าที่สร้างรัง และเลี้ยงตัวอ่อน นำมดแดงมาใส่ในอาหารประเภทยำ หรือ ต้มยำ เพราะมดแดงมีรสเปรี้ยวจากกรดฟอร์มิคที่ผลิตขึ้น รวมถึง ไข่มดแดง ในความหมายของชาวบ้านจะใช้เรียกรวมทั้งไข่และตัวอ่อนหรือระยะดักแด้ของมดงาน และราชินีมดที่มีสีขาวหรือชมพูอ่อน นิยมนำมาใส่ แกง ยำ ทอดกับไข่เจียว

รายการอ้างอิง :
โปรตีนไขมันต่ำ…กินได้. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (Life Style : สุขภาพ). วันที่ 28 มิถุนายน 2556.– ( 171 Views)

 
Tags:
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


five + = 8

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>