magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home การแพทย์/สาธารณสุข โรคสมองเสื่อมดิจิตอล บทเรียนแสนแพงจากแดนกิมจิ
formats

โรคสมองเสื่อมดิจิตอล บทเรียนแสนแพงจากแดนกิมจิ

เทคโนโลยีมีคุณประโยชน์ และก็มีโทษมหันต์ในเวลาเดียวกัน หากผู้ใช้เทคโนโลยีไม่รู้เท่าทัน หรือใช้งานอย่างไร้สติ ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่อตนเองลามไปถึงสังคมระดับชาติ ตามลำดับ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาใหม่ นั่นคือคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และ อุปกรณ์ไอทีนานัปการที่รายล้อมรอบกาย กำลังเป็นโรคสมองเสื่อมเพราะใช้ชีวิตผูกติดกับสมาร์ทโฟน เกมคอนโซล และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากเกินสมควร

อย่าง คิม มิน-วู วัย 15 ปี ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความจำอย่างหนัก ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า คิม มิน-วู มีอาการเริ่มต้นของโรคความจำเสื่อมเนื่องจากใช้ชีวิตผูกติดกับเทคโนโลยีดิจิตอลมากเกินไป
          ไม่น่าแปลกใจที่เด็กชายวัย 15 ปีคนนี้จะมีอาการผิดปกติเช่นนี้ เพราะเขาใช้เวลาเกือบ 10 ปีในช่วงชีวิตวัยเรียนรู้ ผูกติดกับอุปกรณ์ไอที คอมพิวเตอร์ และ อินเทอร์เน็ต ตั้งแต่อายุ 5 ปี จนทำให้เขากลายเป็นเด็กติดเกมขั้นรุนแรง ใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนหลายต่อหลายชั่วโมงในแต่ละวัน

มีการศึกษาพบว่าเยาวชนในเกาหลีใต้อายุมากกว่า 16 ปี มากกว่า 67% มีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเอง ซึ่งถือเป็นอัตราการครอบครองสมาร์ทโฟนของเยาวชนอายุระดับนี้มากที่สุดในโลก ซึ่งเกิดจากการเลียนแบบผู้ใหญ่ที่มีการพกสมาร์ทโฟนเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวันของชาวเกาหลีใต้ ส่วนตัวเลขของเด็กที่มีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเองในปัจจุบันอยู่ที่ 64.5% ของจำนวนประชากรวัยเด็ก เพิ่มขึ้นจากตัวเลข 21.4% ของประชากรวัยเด็กในปี 2554 ถึง 3 เท่า!!

นอกจากนั้นประชากรวัยผู้ใหญ่ เยาวชน และเด็กยังเป็นกลุ่มที่ติดอินเทอร์เน็ตอย่างหนัก จนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศตั้งแต่ยุคทศวรรษ 2543 และด้วยอาการติดอินเทอร์เน็ต และการใช้อุปกรณ์ไอทีต่างๆเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต ทำให้สังคมเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ นั่นคือการระบาดของโรคความจำเสื่อมดิจิตอล (digital dementia) โดยประชากรที่เป็นโรคนี้จะมีอาการความจำเสื่อมถอย หรือไม่รับรู้สภาพสังคม คนรอบข้าง หรือโลกภายนอก ตามมาด้วยอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หรือในรายที่มีอาการหนักอาจจะมีอาการป่วยทางจิต ที่เรียกว่า “จิตเวช” ตามมา

ขณะที่สำนักประเมินและตรวจสอบคุณภาพการให้บริการสุขภาพแห่งรัฐบาลเกาหลีใต้ ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านความจำ วัยระหว่าง 20-40 ปี เพิ่มขึ้นจาก 1,160 รายในปี 2551 เป็น 1,585 รายในปี 2555 ซึ่งส่อเค้าของการระบาดของโรคความจำเสื่อมดิจิตอลในสังคมเกาหลี

นพ.คิม ยัง-โบ แห่งศูนย์การแพทย์จิล แห่งมหาวิทยาลัยเกชอน อธิบายว่า อุปกรณ์ไอทีเป็นตัวบ่อนทำลายระบบความจำในสมองเพราะอรรถประโยชน์ของอุปกรณ์ไอทีที่ช่วยเหลือผู้ใช้ได้แทบทุกอย่างทำให้ผู้ใช้ไม่ใส่ใจที่จะใช้สมองในการจดจำอะไรอีกต่อไป เพราะการใช้สมาร์ทโฟนจะกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้าย ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับจินตนาการ และการเรียบเรียงเหตุผล มากกว่าซีกขวาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงอารมณ์ และความจำทำให้กลายเป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว

เกาหลีใต้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และมีการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวาง เช่นการใช้สมาร์ทโฟนแทนบัตรเครดิต บัตรรถไฟฟ้า หรือการจับจ่ายสินค้าประจำวันก็ทำได้ผ่านสมาร์ทโฟน เช่นเดียวกับเกมคอมพิวเตอร์ออนไลน์ที่ขึ้นชื่อระดับโลก ก็มาจากเกาหลีใต้ ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ชาวเกาหลีจะ “เสพติด” อุปกรณ์ไอทีที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างหนัก จนทำให้สุขภาพจิตเลวร้ายลงกลายเป็นปัญหาระดับชาติ และเป็นบทเรียนราคาแพงที่ประเทศอื่นๆ ต้องเรียนรู้ไว้เพื่อหาทางป้องกันล่วงหน้า

รายการอ้างอิง :
โรคสมองเสื่อมดิจิตอล บทเรียนแสนแพงจากแดนกิมจิ. คมชัดลึกออนไลน์ (เกษตร-วิทยาศาสตร์-ไอที : ข่าวทั่วไป). วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2556.– ( 50 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


1 × four =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>