magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก มศว วิจัยใช้เครื่องยิงฆ่าเซลล์มะเร็ง
formats

มศว วิจัยใช้เครื่องยิงฆ่าเซลล์มะเร็ง

แพทยศาสตร์นำร่องวิจัยรักษามะเร็งตับ-ทางเดินน้ำดี และมะเร็งตับอ่อน เปิดรับรักษาฟรี 84 คนที่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) ร่วมกับเอสคูแลป คลินิก(เอเชีย) จำกัด ร่วมกันทำวิจัยและให้บริการเครื่อง HIFU ที่อาศัยคลื่นเสียงความถี่สูงรักษาเนื้อร้าย เนื้องอกระยะลุกลาม นำร่องวิจัยในมะเร็งตับและทางเดินน้ำดี และมะเร็งตับอ่อน

ศ.นพ. วุฒิชัย ธนาพงษธร คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) กล่าวว่า การรักษาก้อนเนื้องอกและมะเร็งด้วยเครื่อง High-Intensity Focused Ultrasound (HIFU) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ที่จะมาช่วยในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัดแล้วไม่ได้ผลเครื่อง HIFU มีหลักการคล้ายกับการใช้แว่นขยายรวมแสงอาทิตย์ให้ตกอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ทำให้ความเข้มข้นของแสงสูงจนเกิดเป็นความร้อนได้ แต่เครื่อง HIFU จะเป็นการรวมคลื่นเสียงความถี่สูงหรือคลื่นอัลตร้าซาวด์ โดยมีการส่งคลื่นเสียงจากแหล่งกำเนิดขนาดเล็กจำนวน 256 ชิ้น วางตัวทำมุม 80 องศา ทำให้เกิดการรวมของคลื่นเสียงในจุดที่กำหนดไว้ แหล่งความร้อนที่เกิดขึ้นมีขนาด 3x3x10 มม. และมีความร้อนประมาณ 55-60 องศาเซลเซียส เพื่อช่วยรักษาเซลล์มะเร็งหรือเสมือนเครื่องยิงฆ่าเซลล์มะเร็ง

ผศ. นพ. วิทย์ วราวิทย์ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ อธิบายว่า เทคโนโลยีนี้ใช้หลักการรักษาภายนอกร่างกายผ่านผิวหนัง โดยแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัย ดูข้อบ่งชี้ก่อนว่าเหมาะสมที่จะใช้เครื่อง HIFU จากนั้นก็จะทำการอัลตราซาวน์ เพื่อระบุตำแหน่งของก้อนเนื้อ จากนั้น ก็จะใช้เครื่องส่งคลื่นเสียงความถี่สูงที่จะเปลี่ยนเป็นความร้อนจนถึงอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เซลล์มะเร็งจะเกิดภาวะ Coagulative Necrosis ซึ่งจะแข็งและตายในที่สุด

“ข้อจำกัดของการใช้เครื่องนี้คือ ไม่สามารถใช้กับก้อนเนื้อที่มีกระดูกหรือถูกอวัยวะอื่นบัง เช่น มะเร็งสมอง หรือมะเร็งปอดที่มีลมบังอยู่ เพราะคลื่นเสียงต้องอาศัยน้ำหรือเจลเป็นตัวกลางนำส่งคลื่น ในขณะเดียวกัน เป้าของการรักษาคือ ทำให้ก้อนเนื้องอกหยุดการเจริญเติบโตหรือลดขนาดลง และอาจมีโอกาสหายขาด ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของเนื้องอก รวมถึงการตอบสนองต่อการรักษาเช่นกัน” ผศ. นพ. วิทย์กล่าว

คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มศว เผยว่า ปัจจุบัน ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ มีโครงการวิจัยเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยนำร่องศึกษาใน 2 โรคก่อน คือมะเร็งตับ-ทางเดินน้ำดี และมะเร็งตับอ่อน โดยจะรักษา “ฟรี”ด้วยเครื่อง HIFU ให้กับผู้ป่วย 84 คนที่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม

โครงการวิจัยดังกล่าว ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของคณะแพทยศาสตร์ มศว ในเดือนมีนาคม 2556 และเริ่มทำวิจัยในเดือนเมษายน 2556 ปัจจุบันมีอาสาสมัคร 4 คน เป็นผู้ป่วยมะเร็งตับ 3 คนและผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน 1 คน

“มะเร็งตับเป็นสาเหตุการตาย 1 ใน 3 อันดับแรกของคนไทย ในขณะที่มะเร็งตับอ่อนเป็นอันดับ9 แต่มักพบในระยะลุกลามและมีโอกาสเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หรือใช้เคมีบำบัดรักษาเพียงอย่างเดียวและไม่ได้ผล” ผศ. นพ. วิทย์กล่าวพร้อมชี้ว่า มะเร็ง 2 กลุ่มโรคนี้ สามารถใช้การยิงคลื่นเสียงแล้วได้ผลดี เพราะไม่มีลมหรือกระดูกมาบัง เชื่อว่า การรักษาจะได้ผลดี

สำหรับผลข้างเคียงของการรักษา หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยาชี้ว่า เนื่องจากเป็นการใช้ความร้อนทำลายเซลล์มะเร็ง จึงมีความเสี่ยงที่ผิวหนังจะได้รับความร้อน เกิดอาการบวมแดง เหมือนโดนน้ำร้อนลวก ประมาณ 2-3 ชม. ก็จะหายเอง ซึ่งตัวเลขจากต่างประเทศชี้ว่ามีโอกาสเกิดได้ 20% ในขณะที่ผลข้างเคียงระดับรุนแรงเช่น ภาวะเลือดออกในก้อนมะเร็ง เลือดออกในช่องท้อง เส้นเสือดสำคัญอุดตัน หรืออวัววะข้างเคียง เช่น ลำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะได้รับอันตรายนั้น มีโอกาสเกิดได้น้อยกว่า 1%

ศ. นพ วุฒิชัยกล่าวว่า เทคโนโลยีนี้ เหมาะกับการรักษามะเร็งระยะลุกลาม ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด หรือใช้เคมีบำบัดแล้วไม่ได้ผล เพราะการรักษาที่ดีที่สุดของมะเร็งคือ การผ่าตัด หากตัดออกได้ แต่หากมีหลายจุด ไม่สามารถตัดออกได้ เพราะเนื้อตับจะหายไปมากเกินไป ต้องอาศัยเคมีบำบัด

“เครื่องไม่สามารถรักษามะเร็งระยะลุกลามให้หายขาดได้ทุกคน แค่บรรเทาอาการเจ็บปวด และเพิ่มคุณภาพชีวิต ดังนั้น เราจะยืนยันให้ผู้ป่วยรักษาตามมาตรฐานก่อน หากไม่สามารถรักษาได้ จึงจะเลือกใช้เทคโนโลยีนี้” คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ย้ำ

ผศ. นพ. นิยม ละออปักษิณ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ มศว องครักษ์ ให้ข้อมูลว่า การรักษาด้วยเครื่อง HIFU มีค่ารักษาอยู่ที่ 58,000 บาทต่อครั้ง ไม่รวมค่าห้องและค่าบริการอื่น ๆ และไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามสิทธิการรักษาพยาบาลทุกประเภท โดยการรักษาเฉลี่ยต้องมักกว่า 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนเนื้อและการพิจารณาของแพทย์ผู้รักษา

“สำหรับผู้ที่สนใจจะร่วมโครงการ และมีข้อบ่งชี้เหมาะสมกับการใช้เทคโนโลยีนี้ สามารถสอบถามข้อมูลมาที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ หรือสามารถติดต่อกับโรงพยาบาลเจ้าของไข้เพื่อส่งตัวมารักษา ทั้งนี้ ควรนัดหมายก่อนเเพราะสามารถรับได้จำกัดในแต่ละวัน” ผอ. ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ ย้ำ

สำหรับการขยายการให้บริการไปยังโรคมะเร็งอื่น ศ. นพ. วุฒิชัยเผยว่า มีแผนในอนาคต เนื่องจากในต่างประเทศมีการใช้เครื่องนี้ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เนื้องอกมดลูก และมะเร็งเนื้อเยื่อต่าง ๆ แต่ต้องรอผลการวิจัยในมะเร็ง 2 ชนิดที่เราทำวิจัยก่อน เพื่อยืนยันประสิทธิภาพให้กลุ่มคนไทย ซึ่งใน 1 ปีหลังจบโครงการวิจัย ยังต้องประเมินผลการรักษาและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้อีกครั้ง จึงจะต่อยอดสู่โรคมะเร็งชนิดอื่น ที่มีข้อบ่งชี้เหมาะกับการใช้คลื่นเสียงในการรักษา

“อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีใหม่นี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ไม่ใช่คำตอบเดียวหรือ คำตอบสุดท้ายของการรักษา” คณบดีย้ำ

รานการอ้างอิง :
สาลินีย์ ทับพิลา. มศว วิจัยใช้เครื่องยิงฆ่าเซลล์มะเร็ง. กรุงเทพธุรกิจ. (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). วันที่ 7 กรกฎาคม 2556.– ( 965 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


2 × nine =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>