ฉลากนาโนคิวบนรถ พยาบาลของ บริษัท สุพรีมโพรดักส์ จำกัด คือสัญลักษณ์ที่ยืนยันความเป็นนวัตกรรมนาโนและเป็นจุดแข็งที่ฉีกให้ต่างจาก คู่แข่ง
ฉลากนาโนคิวบนรถพยาบาลของ บริษัท สุพรีมโพรดักส์ จำกัด คือสัญลักษณ์ที่ยืนยันความเป็นนวัตกรรมนาโนและเป็นจุดแข็งที่ฉีกให้ต่างจากคู่แข่งโดยสิ้นเชิง ทั้งยังทำให้สถานพยาบาลจำนวนมากเทความเชื่อมั่นได้จนหมดหน้าตัก
:คิดต่างสร้างจุดขาย
นพ.สิทธิชัย พุทธิประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สุพรีมโพรดักส์ จำกัด กล่าวว่า สุพรีมโพรดักส์เป็นธุรกิจตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์มานานถึง 34 ปีแล้ว โดยนำเข้าสินค้าจากคู่ค้าในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก แต่ด้วยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของจีนทำให้บริษัทเกิดแนวคิดที่จะวิจัยและพัฒนาสินค้าขึ้นเอง เพื่อให้มีสินค้าที่ดีมีคุณภาพต่างจากที่ตลาดโลกมีอยู่โจทย์แรกที่บริษัทคิดลงมือทำและควักกระเป๋าลงทุนไปกว่า 40 ล้านบาทคือ การผลิตรถพยาบาลนาโน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของคนไข้และเจ้าหน้าที่ที่ใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งจากการวิเคราะห์โอกาสเบื้องต้น พบว่ามีตลาดสถานพยาบาลรองรับอยู่ทั่วประเทศน่าจะทำตลาดได้ไม่ยาก
บริษัทตัดสินใจนำโจทย์เข้าไปปรึกษาหารือกับ รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งเกิดการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ด้านการพัฒนาสูตรสารเคลือบไฟเบอร์กลาส (Gel coat) ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าและยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรค
ทีมวิจัยใช้เวลาในการพัฒนาสูตรสารเคลือบไฟเบอร์กลาสที่ใช้เคลือบด้านในรถพยาบาลนาโนอยู่นานร่วม 3 ปี (ระหว่าง 2552-2554) จนแล้วเสร็จ และส่งต่อให้ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ รับหน้าที่ต่อในการพิสูจน์ความเป็นนาโนเทคโนโลยี ก่อนขอฉลากนาโนคิวเป็นผลิตภัณฑ์แรกของไทยจากสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อรับรองว่ารถพยาบาลที่บริษัทผลิตขึ้นเองนั้นมีความเป็นนาโนและมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคจริงๆไม่ได้แอบอ้าง
“บริษัทลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการรองรับกระบวนการผลิตรถพยาบาลนาโนขึ้นโดยจำเพาะ ทั้งพัฒนาทักษะด้านการนำนาโนเข้ามาใช้ให้กับบุคลากรหน้าเดิมในบริษัท เพื่อยกระดับความรู้และเตรียมพร้อมที่จะขยายผลการนำนาโนเข้ามาใช้ในกิจการไปยังสินค้าเครื่องมือแพทย์ประเภทอื่นๆในอนาคต” นพ.สิทธิชัย กล่าว
เขามองว่า ประโยชน์ที่เกิดจากการได้รับฉลากนาโนคิวคือ โอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้นที่ชัดเจนจากคุณสมบัติด้านการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดผลิตรถพยาบาลนาโนเพิ่มขึ้นมากกว่า 500 คันสำหรับสถานพยาบาลของรัฐบาล ขณะที่คู่แข่งยังขายรถพยาบาลในแบบหน้าตาเดิมๆ
“บริษัทไม่ได้ปรับราคารถพยาบาลเพิ่มจากนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เพราะการนำนาโนเข้ามาใช้ไม่ได้สร้างภาระต้นทุนให้แพงขึ้นมากจนแบกรับไม่ไหว โดยหลังจากนี้ยังมีแผนจะนำองค์ความรู้ดังกล่าว ขยายผลไปที่เครื่องมือแพทย์อื่นๆ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อในผู้ป่วยให้เหลือน้อยที่สุด” นพ.สิทธิชัย กล่าว
:นาโนคิวยืนยันตัวตน
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล นายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้มีประเทศที่ตื่นตัวในการใช้ฉลากนาโนอยู่ 3 ประเทศได้แก่ ไทย ไต้หวัน และอิหร่าน โดยอนาคตยังมีอีกหลายประเทศที่จะให้ความสำคัญในการใช้ฉลากดังกล่าวบนผลิตภัณฑ์ที่กล่าวว่าเป็นสินค้านาโน
“สมาคมนาโนฯตั้งเป้าจะผลักดันให้มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉลากนาโนคิวใน 1 ปีหลังจากนี้อย่างน้อย 12 ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมสีและสารเคลือบ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก เพื่อยกระดับสินค้านาโนให้ได้มาตรฐานมากกว่าที่ผ่านมา”นายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าว
บริษัทที่มีผลิตภัณฑ์นาโนและสนใจที่จะขอใช้ฉลากนาโนคิวสามารถส่งตัวอย่างให้สมาคมนาโนฯตรวจสอบและรับรองได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยทางสมาคมมีความร่วมมือกับ 4 ห้องปฏิบัติการ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์บริการที่พร้อมให้บริการตรวจสอบความเป็นนาโนเทคโนโลยีตามหลักวิทยาศาสตร์และให้การรับรองความเป็นนาโนที่น่าเชื่อถือ
นายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ตอนนี้สมาคมฯ มีมาตรฐานที่ใช้ทดสอบและรับรองความเป็นนาโน รวมถึงออกแบบฉลากนาโนคิวขึ้นมา เพื่อให้สินค้านาโนเข้ามาใช้บริการได้แล้ว ซึ่งประโยชน์ที่เกิดผู้ประกอบการจะได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภค และผู้บริโภคเองก็จะได้สินค้าที่เป็นนาโนจริงแท้ไม่ต้องกังวลของปลอมอีกต่อไป
รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. ถึงเวลาติดฉลาก ‘นาโนคิว’ระบุตัวตน. กรุงเพทธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 8 กรกฎาคม 2556.– ( 82 Views)