magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก บันทึกอาเซียน : อาเซียนกับการศึกษา [1]
formats

บันทึกอาเซียน : อาเซียนกับการศึกษา [1]

45 ปีประชาคมอาเซียน กับบททางการศึกษาจากไทย

ปี พ.ศ. 2555 ชาวไทยห่วงเรื่องการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกันมากเป็นพิเศษ หันไปทางไหนก็มีผู้คนถามเสมอว่าสงสัยเราจะไม่พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ที่โรงเรียนนครสวรรค์ วันที่ 24 สิงหาคม 2555 ก่อนงานบรรยายเรื่องการเตรียมการศึกษาเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีครูจากทั่วนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมประชุมกว่า 200 คน เสียงตามสายประกาศว่า:

“เหลือเวลาอีกเพียง 857 วัน จะถึงวันเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว โรงเรียน,ครู, และนักเรียน จะต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อจะให้มีความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่กำลัง จะเปิดในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2558 นี้”

ครูผู้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงในบริเวณโรงเรียนนับวันที่เหลือถึงสิ้นปี 2555 นี้ แล้วเอา 364 วันในอีกแต่ละปีที่เหลือรวมสองปีบวกเข้าด้วยกัน จึงได้จำนวนวันให้นับถอยหลัง 857 วัน ราวกับว่าจะปล่อยยานอวกาศออกจากฐานยิงจรวด ณ เขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดนครสวรรค์

การเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนไม่ถึงขนาดจะตึงเครียดน่ากลัวปานนั้น เพราะข่าวสารที่ผิดพลาดมานานปีทำให้เราเข้าใจผิดไปว่าประชาคมอาเซียนปิดสนิท อยู่และมีเส้นตายที่เป็นวันกำหนดเปิดประชาคมในปี พ.ศ. 2558 /ค.ศ. 2015 เมื่อข่าวสารสาธารณะผิด และผิดอยู่เสมอทุกวัน ชาวไทยทั้งประเทศก็เกิดอาการเกร็งกลัว หวั่นไหวว่าเวลาเหลือน้อยเต็มที จะทำอะไรอย่างไรก็ไม่รู้ อะไรผงาดทมึนอยู่ข้างหน้าก็ไม่ทราบ จะดีจะร้าย จะแพ้จะชนะ จะอย่างไรก็มองไม่เห็นชตากรรม จนกลายเป็นอาการกลัวประชาคมอาเซียนระดับชาติไปทั่วประเทศทุกวันนี้

โดยเฉพาะในวงการศึกษา เพราะบรรดาคุณครูก็กลัวว่าลูกหลานจะไม่พร้อม จะไปแพ้เด็กชาติอื่น จะเสียอนาคตของเด็กและเยาวชน จะเสียอนาคตของชาติ!

ที่เข้าใจผิด และทำให้วงการศึกษาเข้าใจผิดกันทั้งประเทศนั้น เริ่มต้นที่รัฐบาลที่ประกาศนโยบายการศึกษาต่อรัฐสภาว่าจะ:

“เพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ในการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ สอดคล้องตามความต้องการของภาคการผลิตและบริการ เร่งรัดการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพรับรองสมรรถนะการปฏิบัติงานตามาตรฐาน อาชีพ การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกอุตสาหกรรม.”

ที่จริงแล้วประชาคมอาเซียนนั้นมิได้ปิด แต่เปิดอยู่แล้ว และมิได้เปิดอยู่อย่างไม่เสรี ประชาคมอาเซียนเปิดมานาน 45 ปีแล้ว และเปิดอย่างเสรีที่ละน้อยในเรื่องการทำมาค้าขายข้ามพรมแดน ดังที่รู้จักกันในนาม “เขตการค้าเสรีอาเซียน”

เมื่อประชาคมอาเซียนเปิดอยู่และเปิดมานานแล้ว เราก็ยังไม่รู้สึกถึงผลกระทบอะไรเลยมานาน 45 ปีแล้ว แต่พอเราเข้าใจผิดว่าประชาคมอาเซียนยังไม่เปิดก็กลับมาเกิดความหวาดหวั่น พรั่นพรึงไปต่างๆนานา ความกลัวอาเซียนจึงเป็นความกลัวที่ไม่มีเหตุผล กลัวกันไปเองเพราะไม่รู้ความจริง

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า แม้อาเซียนจะเกิดและเปิดเป็นประชาคมอาเซียนมานาน 45 ปีแล้วก็ตาม แต่อาเซียนก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายร่วมกันสร้างประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์ รัฐบาลทั้งสิบประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียนจึงเร่งรัดการทำงานร่วมกันเพื่อ สร้างประชาคมอาเซียนโดยประกาศให้ปี 2558/2015 เป็นปีเป้าหมายที่ประชาคมอาเซียนจะประสพผลสำเร็จในการงานร่วมกันมากที่สุดจน สามารถภูมิใจได้ว่าเราเป็น “ประชาคมอาเซียน” ที่สมบูรณ์

การที่ประเทศไทยเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศจากอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, และรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มาร่วมหารือเพื่อก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน” (Association of Southeast Asian Nations-ASEAN) เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2510 นั้น ถือได้ว่าประเทศไทยของเราเป็นผู้นำอาเซียนโดยแท้ เพราะความมั่นคงและการพัฒนาที่พร้อมกว่าชาติอื่นๆในภูมิภาคเราจึงได้รับความ ไว้เนื้อเชื่อใจ จะคิดจะเสนออะไรก็มักจะได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากมิตรประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีการลงนามก่อตั้งสมาคมอาเซียนกันที่กรุงเทพฯในวันที่ 8 สิงหาคม 2510 คำปฏิญญาที่ประกาศที่กรุงเทพฯเพื่อก่อตั้งอาเซียนก็เริ่มต้นจากความคิดของ ไทยก่อน แล้วจึงช่วยกันปรับแต่งขัดเกลาเป็นปฏิญญาร่วมกัน ปฏิญญาข้อแรกประกาศวัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียนไว้ดังนี้:

ข้อ 1.เพื่อเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และพัฒนาการทางวัฒนธรรมในภูมิภาค โดยมีความพยายามร่วมกัน เป็นหุ้นส่วนอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน เพื่อเสริมสร้างรากฐานความมั่งคั่งและสันติสุขของประชาคมแห่งเอเชียตะวันออก เฉียงใต้

จากปฏิญญาทั้งหมด 7 ข้อ มี 2 ที่กล่าวถึงเรื่องการศึกษา ดังนี้:

ข้อ 4. จัดให้มีความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปของการอำนวยความสะดวกทางการฝึกอบรม และวิจัยด้านการศึกษา วิชาชีพ เทคนิค และการบริการจัดการ
ข้อ 6. ส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อธิบายเชิงประวัติศาสตร์จึงสรุปได้ว่า “ประชาคมอาเซียน” เกิดโดยปฏิญญากรุงเทพฯตั้งแต่ปี 2510 แล้ว เพียงแต่เรียกว่า “ประชาคมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ไม่ได้ใช้คำว่า “ประชาคมอาเซียน” เท่านั้นเอง

ในเรื่องการศึกษานั้นอาเซียนห่วงใยแต่แรกเริ่มโดยตั้งหลักความร่วมมือ ด้านการศึกษาไว้มากถึง 2 ใน 7 ข้อปฏิญญา โดยเน้นเรื่องความร่วมมือทั่วๆไปทางด้านการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับอาชีวะ ศึกษาเป็นหลัก ส่วนด้านวิชาการก็เน้นความรู้เรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาเซียนเดินทางมายาวนานถึงปี 2555 นี้ รวม 45 ปี ความร่วมมือในอาเซียนถูกปล่อยปละละเลยไม่เข้มข้น ต่างคนต่างยุ่งในเรื่องปัญหาในประเทศตน นานทีปีหนจะกลับมาหารือกันเป็นทางการ ประชุมเรื่องอะไรกันไปและตกลงอะไรกันไว้ก็ขาดการติดตามประเมินผลหรือปรับแก้ ให้งานลุล่วงไปตามคาดหวัง อาเซียนในยุคต้นจึงเติบโตช้า ถูกวิจารณ์ว่า “ไม่เป็นโล้เป็นพาย” บ้าง, “เอาแต่ประชุม” บ้าง, “ดีแต่พูด” บ้าง. สารพัดจะถูกวิจารณ์ การประชุมระดับผู้นำรัฐบาลอันเป็นระดับสูงสุดที่เรียกว่า “การประชุมสุดยอดอาเซียน” (ASEAN Summit) ครั้งแรกกว่าจะประชุมกันได้ก็หลังจากอาเซียนเกิดไปแล้วถึง 9 ปี ใน 27 ปีแรกของอาเซียนมีการประชุมสุดยอดเพียง 4 ครั้งเท่านั้น เมื่อประเทศไทยสมัยฯพณฯนายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชาได้เป็นประธานอาเซียนในปี 2538/1995 ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงสามารถจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนได้ต่อเนื่องทุกปี ปีละ 1 ครั้ง แล้วมาเร่งรัดให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นปีละ 2 ครั้งในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนรอบที่สองระหว่างปี 2551-2552  นับจากนั้นเป็นต้นมาอาเซียนจึงทำงานหนักขึ้นเพราะมีการประชุมสุดยอดกันปีละ 2 ครั้ง

แน่นอนว่าอาเซียนเกรงว่าจะทำงานกันน้อยไปช้าไป จะไม่ทันโลก
คนไทยในฐานะพลเมืองอาเซียนจึงมีเหตุผลที่จะต้องเร่งเตรียมตัวให้เร็วขึ้นเพื่อความพร้อมสำหรับการอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียน
เร่งการเตรียมตัวได้ แต่ไม่ต้องกลัว เพราะเราชาวไทยคือผู้ก่อตั้งอาเซียน
เราควรจะพร้อมที่จะช่วยมิตรประเทศอาเซียนมากกว่าใคร

รายการอ้างอิง :

สมเกียรติ อ่อนวิมล. บันทึกอาเซียน : อาเซียนกับการศึกษา [1]. เดลินิวส์. วันที่ 24 ตุลาคม 2555.– ( 103 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


8 + two =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>