magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก เซลล์สุริยะพิมพ์ได้
formats

เซลล์สุริยะพิมพ์ได้

นักเทคโนโลยีไทยชวนจินตนาการว่า จะเป็นอย่างไรเมื่อเราสามารถผลิตแผงเซลล์สุริยะ หรือโซลาร์เซลล์ แบบเดียวกับการผลิตหนังสือพิมพ์

ลองจินตนาการดูว่า จะเป็นอย่างไรเมื่อเราสามารถผลิตแผงเซลล์สุริยะหรือโซลาร์เซลล์แบบเดียวกับการผลิตหนังสือพิมพ์ นั่นคือ พิมพ์ออกมาแบบเป็นแผ่นๆ ด้วยความเร็วสูงออกจากโรงงาน เมื่อนั้นเราจะได้เซลล์สุริยะบนแผ่นพลาสติกที่มีราคาถูกและโค้งงอได้

ล่าสุดทีมนักวิจัยจาก Victorian Organic Solar Cell Consortium (VICOSC) ซึ่งเป็นเครือข่ายวิจัยร่วมระหว่าง The Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization (CSIRO) และมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย แสดงให้เห็นว่ามันเป็นจริงได้แล้ว
ทีมวิจัยสามารถพิมพ์เซลล์สุริยะยาวนับสิบเมตรในเวลาไม่กี่นาที เซลล์สุริยะแบบใหม่นี้แตกต่างจากเซล์สุริยะที่เรามักพบเห็นทั่วไป ซึ่งมีลักษณะเป็นแผงที่ทำด้วยกระจกที่มีน้ำหนักมากและมีราคาแพง ถูกติดตั้งอยู่บนหลังคาเท่านั้น แต่เซลล์สุริยะแบบใหม่นี้ทำจากสารอินทรีย์ที่มีสมบัติกึ่งตัวนำ (Organic Semiconductor Polymer) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นของเหลว จึงสามารถพิมพ์ได้เหมือนหมึกพิมพ์ มันจึงถูกพิมพ์อยู่บนแผ่นพลาสติกที่สามารถโค้งงอได้

ปัจจุบันทีมวิจัยสามารถพิมพ์เซลล์สุริยะขนาดเท่ากับกระดาษ A3 ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังสามารถพิมพ์ลงบนวัสดุอื่นๆ นอกเหนือจากแผ่นพลาสติก เช่น แผ่นเหล็ก ทำให้สามารถเพิ่มคุณสมบัติการเป็นเซลล์สุริยะในวัสดุก่อสร้างอื่นๆ นอกจากกระจกได้ด้วย เช่นแผ่นเหล็กที่ใช้ทำหลังคา หรือผนังของอาคาร เป็นต้น

ถ้าถามเรื่องประสิทธิภาพของเซลล์สุริยะแบบใหม่นี้ มันสามารถผลิตพลังงานได้ประมาณ 50 วัตต์ต่อตารางเมตร นั่นหมายความว่า คุณต้องการเซลล์สุริยะนี้ในขนาดเท่ากับ 2 ตารางเมตร เพื่อจ่ายพลังงานให้แก่คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กสักเครื่อง นอกจากทีมวิจัยจากประเทศออสเตรเลียแล้ว อีกทีมวิจัยจากประเทศบราซิล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสนใจวิจัยด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานสะอาด

นอกเหนือจากงานวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพ ทีมนักวิจัยบราซิลแห่งสถาบัน The Centre Suisse d’Electronique et de Microtechnique (CSEM) ก็กำลังพัฒนาเซลล์สุริยะบนพลาสติกเช่นเดียวกันโดยใช้ธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิต มาแทนที่เซลล์สุริยะแบบเดิมที่ทำด้วยวัสดุซิลิกอนแบบผลึกเดี่ยว ซึ่งทำได้ยากกว่าและมีราคาแพง

เซลล์สุริยะที่ทำจากคาร์บอนและพลาสติกยังสามารถนำมารีไซเคิล นำวัตถุดิบมาใช้ได้ใหม่ และพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ roll-to-roll ซึ่งพิมพ์ได้รวดเร็วกว่าการพิมพ์วิธีอื่นๆ แต่ปัญหาหนึ่งที่ทีมวิจัยทั่วโลกยังต้องแก้คือ เรื่องประสิทธิภาพของเซลล์สุริยะที่ยังต่ำอยู่มาก

ถึงแม้ว่าทีมวิจัยจาก UCLA ประเทศสหรัฐอเมริกา จะทำได้ดีที่สุดอยู่ที่ 8% มันก็ยังได้อยู่ที่ประมาณหนึ่งในสามของเซลล์สุริยะแบบเดิมเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องอาศัยเนื้อที่ที่มากกว่าในการผลิตพลังงานจำนวนเท่ากัน และต้องทำให้ราคาของเซลล์สุริยะต่อวัตต์ให้ต่ำกว่า 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นเป้าหมายที่ต้องพิชิต

รายการอ้างอิง :  ดร.อดิสร เตือนตรานนท์. เซลล์สุริยะพิมพ์ได้. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม).วันที่ 20 กรกฎาคม 2556– ( 116 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


one + = 5

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>