Google Play หรือ ร้านค้าออนไลน์ของกูเกิลที่มีบริการเนื้อหาดิจิทัล ทั้งแบบฟรี และต้องจ่ายสตางค์ ตัวอย่างชนิดของเนื้อหาดิจิทัล ได้แก่ เพลง, ภาพยนตร์, หนังสือ, แอพพลิเคชัน, เกมและอื่นๆ
บนอุปกรณ์ที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) เช่น แอนดรอยด์สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์แท็บเล็ต (Tablet) และ Android Devices ชนิดอื่นๆ ผู้ใช้สามารถเข้าถึงร้านค้า Google Play ได้โดยผ่านแอพพลิเคชัน “Play Store” โดยผู้ใช้ต้องลงทะเบียนบัญชีออนไลน์ในการเปิดใช้งานครั้งแรก ด้วยบัญชีอีเมลของ “Gmail” หลังจากนั้นผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกดาวน์โหลดโปรแกรม (Apps) และ/หรือเกมที่ต้องการได้ ซึ่งจะมีการแบ่งประเภทของแอพพลิชันและเกม ไว้ในมุมมองต่างๆ ได้แก่ แบ่งตามประเภทหมวดหมู่ แบ่งตามประเภทการดาวน์โหลด แบบที่ต้องจ่ายเงิน แบบที่ดาวน์โหลดฟรี โดยเรียงลำดับตามความนิยมในการดาวน์โหลดไปใช้งาน จากมากไปน้อย เป็นต้น
กรณีที่ผู้ใช้มีอุปกรณ์ Android device มากกว่า 1 เครื่อง ซึ่งแต่ละอุปกรณ์มีการลงทะเบียนบัญชีกับ Google ไว้แล้ว (โดยใช้บัญชีกูเกิลเป็นชื่อเดียวกันในทุกอุปกรณ์) เมื่อผู้ใช้เปิดโปรแกรม Play Store และเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตแล้ว สามารถเรียกดูรายชื่อทั้งหมด ของรายการแอพพลิเคชัน /เกมส์ (ทั้งแบบฟรีและซื้อแล้ว) “My apps” ที่เคยติดตั้งไปแล้วในทุกอุปกรณ์ที่ผู้ใช้ลงทะเบียนไว้ และสามารถเลือกเพิ่มการติดตั้งให้กับอุปกรณ์ Android อื่นๆ ของผู้ใช้ได้
แอพพลิเคชันส่วนใหญ่จะมีให้ดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรี ส่วนแอพพลิเคชันที่ต้องจ่ายเงินซื้อมักจะเป็นในลักษณะที่หากผู้ใช้ต้องการเวอร์ชันที่ไม่มีแบนเนอร์โฆษณา หรือเวอร์ชันที่มีฟังก์ชันการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ดีขึ้น เป็น Full Version ที่สมบูรณ์ ก็ต้องจ่ายเงินซื้อ ซึ่งแอพพลิเคชันที่ได้จ่ายเงินซื้อไปแล้ว โดยส่วนใหญ่สามารถเพิ่มการติดตั้งในอุปกรณ์แอนดรอยด์อื่นๆ ของผู้ใช้ (อุปกรณ์ต้องลงทะเบียนบัญชีเป็นชื่อเดียวกัน) ได้ไม่จำกัดจำนวนอุปกรณ์ แต่ก็มียกเว้นในบางแอพพลิเคชันที่ต้องจ่ายเงินซื้อสำหรับทุกๆ 1 อุปกรณ์
ข้อจำกัดอื่นๆ ของแอพพลิเคชันบนแอนดรอยด์ที่มี ได้แก่ ความเข้ากันได้ของแอพพลิเคชันและอุปกรณ์ ยกตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชันที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับ แอนดรอยด์ แท็บเล็ต ที่ใช้ปากกาเขึยนได้ หรือต้องการขนาดแสดงผลบนหน้าจอที่ค่อนข้างใหญ่ ก็อาจจะไม่สามารถทำงานได้ หรือทำงานได้ไม่เต็มรูปแบบ บนสมาร์ทโฟน หรืออีกตัวอย่าง เช่น แอพพลิเคชันที่สามารถทำงานได้บนมือถือยี่ห้อหนึ่ง รุ่นหนึ่ง ก็อาจทำงานได้ไม่สมบูรณ์ บนมือถือยี่ห้อเดียวกัน แต่รุ่นที่ต่ำลง หรือรุ่นที่เพิ่งตกรุ่นไป หรือเป็นคนละประเภท เช่น ยี่ห้อเดียวกัน แต่เป็นแท็บเล็ต กับ สมาร์ทโฟน แต่ก็มีบางแอพพลิเคชันที่ผู้พัฒนามีการพัฒนาออกมาแยกเวอร์ชันให้รองรับการทำงานบนอุปกรณ์ต่างประเภทกัน
รวมถึงตัวเวอร์ชันของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งแอพพลิเคชันที่พัฒนาออกแบบให้รองรับอุปกรณ์ใหม่ๆ ก็อาจจะไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ในอุปกรณ์ที่เป็นระบบรุ่นเก่าที่ไม่สามารถอัพเกรดระบบปฏิบัติการให้เป็นเวอร์ชันใหม่ได้แล้ว เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของฮาร์ดแวร์ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น เช่น ระบบ sensor ต่างๆ ที่ใส่มาในอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ สาเหตุหลักเนื่องมาจากแผนการตลาดของผู้ผลิตนั่นเอง– ( 135 Views)