จากกรณีฟ้าผ่าคู่ฮันนีมูนชาวไทยเสียชีวิต ขณะถ่ายรูปที่จุดชมวิวของแกรนด์แคนยอน สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของสหรัฐอเมริกานั้น อาจารย์บุศราศิริ ธนะ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ฟ้าผ่าในกรณีดังกล่าว เกิดจากเมฆฝนฟ้าคะนอง ซึ่งในสหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงพายุฤดูร้อนพอดี ประกอบกับสถานที่แกรนด์แคนยอน เป็นพื้นที่ทะเลทราย แห้งแล้ง และเป็นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่ ทำให้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้แม้ว่าฝนจะตกแค่โปรยปราย และเมฆฝนที่มีขนาดใหญ่ ลอยอยู่ในระดับสูงก็ตาม แต่ฟ้าสามารถผ่าลงมาจากระยะไกลได้ ดังนั้นหากพบว่ามีเมฆฝนขนาดใหญ่ แม้จะไม่ลอยต่ำ แต่ถ้าเห็นฟ้าแลบ ควรรีบออกมาจากพื้นที่เสี่ยงและหาที่หลบทันที
ทั้งนี้กรณีฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นกับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในต่างประเทศ มักไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีพื้นที่โล่งแจ้งขนาดใหญ่ จะมีก็แต่พวกสนามกอล์ฟ ซึ่งรู้วิธีป้องกันตัวเองจากฟ้าผ่าอยู่แล้วสำหรับสถานการณ์ฟ้าผ่าในประเทศไทย อาจารย์บุศราศิริ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลฟ้าผ่าร่วมประเทศญี่ปุ่น ยังไม่พบการเกิดฟ้าผ่ามากจนผิดปกติ นอกจากนี้จากข้อมูลจากนาซ่ายังระบุว่า ประเทศไทยมีความถี่ในการเกิดฟ้าผ่าเฉลี่ย 15 ครั้งต่อพื้นที่ตารางกิโลเมตรต่อปี ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก และมักจะเกิดมากในช่วงเปลี่ยนฤดู ซึ่งมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่าน และเกิดฝนฟ้าคะนอง
อย่างไรก็ดี แม้ปรากฎการณ์ฟ้าผ่า จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่หากประชาชนไม่ตระหนักและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งหรือในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงต่าง ๆ ต่อการเกิดฟ้าผ่า เมื่อเกิดฝนตกฟ้าคะนอง ควรที่จะหลบในตัวอาคารที่มิดชิด มั่นคง ไม่ควรหลบภัยบริเวณใต้ต้นไม้สูง หากไม่มีที่หลบให้ขดตัวให้เล็ก ต่ำที่สุด และลดพื้นที่สัมผัสกับพื้นให้มากที่สุด หากนั่งอยู่ในรถห้ามจับโครงสร้างรถที่เป็นโลหะ และที่สำคัญห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะที่ฝนตกเด็ดขาด หากยังไม่รู้ว่าจะเกิดฟ้าผ่าหรือไม่ สัญญานเตือนง่าย ๆ ก็คือ เมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เกิดฝนฟ้าคะนอง แล้วรู้สึกขนลุก ผมตั้งชี้ แสดงว่าฟ้ากำลังจะผ่า ควรรีบออกมาจากบริเวณนั้นทันที
รายการอ้างอิง :
จุฬาเตือนเห็นฟ้าแลบระยะไกลหนีฟ้าผ่าได้ทันที. เดลินิวส์. วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2556.– ( 62 Views)