วันนี้ (31 กค.) นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วในทะเลบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ว่า น้ำมันดังกล่าวมีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งกระบวนการกำจัดต้องวางแผนให้ดีอย่างรอบคอบ เป็นขั้นตอน แต่ก็รอช้าไม่ได้เพราะมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งในทะเลและบนบก โดยเฉพาะอาหารทะเล ที่จะได้รับสารพัดสารเคมีที่มีอยู่ในน้ำมันดิบ โดยเฉพาะสารพิษในกลุ่ม ไฮโดรคาร์บอน เช่น “พีเอเอช(PAHs)” ซึ่งสิ่งมีชีวิตในทะเลที่ทำมาหากินอยู่บริเวณที่มีน้ำมันรั่วก็มีสิทธิ์ปนเปื้อนเข้าไปได้สูงและจะจับสะสมอยู่ในไขมันปลา ไข่ปลา ไข่กุ้ง ไข่ปู และตามส่วนต่าง ๆ ของสัตว์น้ำ และเมื่อมันตายจากพิษน้ำมันดิบ คนที่จับสัตว์เหล่านี้ขึ้นมากินก็มีสิทธิ์ได้รับช่วงสารเคมีที่ว่านี้ต่อเช่นกัน นอกจากนี้น้ำมันดิบที่ทำปฏิกิริยากับแสงแดด สามารถเปลี่ยนเป็นสารพิษอันตราย ระเหยสู่อากาศ กลายเป็นมลพิษ หากสูดดมเข้าไป สามารถส่งผลกระทบถึงระดับดีเอ็นเอในเซลล์สิ่งมีชีวิตได้
นายแพทย์กฤษดา กล่าวว่า เนื่องจากผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ดังนั้นการวางแผนแก้ไขและฟื้นฟู ด้วยเทคโนโลยีไฮเทคบางอย่าง อาจทำให้ยิ่งแย่หนักกว่าเดิมได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณของน้ำมัน ชนิดของน้ำมันกระแสน้ำและ กระแสลม ทั้งนี้ วิธีที่ช่วยล้างพิษของน้ำมันรั่ว ที่เริ่มนิยมใช้กันมากคือการใช้ จุลินทรีย์ ที่ชื่อว่า อัลคานิโวแร็กซ์(Alcanivorax) ซึ่งพบมากในมหาสมุทร ในการย่อยสลายคราบน้ำมัน ซึ่งวิธีการนี้เคยใช้ได้ผลกับเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นที่อ่าวเม็กซิโก และอาจเป็นทางออกของปัญหาน้ำมันรั่วได้
รายการอ้างอิง :
กระทรวงวิทย์เตือนสารพิษจากน้ำมันรั่ว. เดลินิวส์ (ไอที). วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2556.
– ( 46 Views)