นอกเหนือจากนวัตกรรมเสื้อกู้ภัยพูดได้ที่ฝังโทรศัพท์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและหน้าจอดิจิทัลไว้ที่ตัวเสื้อ สามารถใช้ติดต่อประสานงานต่างๆ เป็นเนวิเกอร์นำทาง และแสดงผลสภาพร่างกายนักกู้ภัยได้ในคราวเดียวแล้ว แต่ยังมีอีกหนึ่งอุปกรณ์คู่ใจนักกู้ภัยที่ไฮเทคไม่แพ้กัน นั่นก็คือ หมวกกู้ภัยระบบสัมผัส
เพราะเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องทำงานท่ามกลางสภาวะการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นท่ามกลางซากปรักหักพังของอาคาร หมอกควันจากอัคคีภัยที่บดบังทัศนวิสัย หรือแม้กระทั่งในเวลากลางคืน ประสาทสัมผัสทางตาจึงอาจใช้การได้ไม่ดีนักในกรณีเช่นนี้
ศูนย์พัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์แห่งมหาวิทยาลัย Sheffield ประเทศอังกฤษ จึงได้คิดค้นพัฒนาหมวกกู้ภัยอัจฉริยะที่มีเซนเซอร์ตรวจจับวัตถุที่อยู่ใกล้ตัวผู้สวมใส่ คล้ายกับกลไกการทำงานของหนวดสัมผัสในสัตว์ โดยหมวกกู้ภัยจะส่งคลื่นอัลตราซาวด์ออกไป เมื่อตกกระทบสิ่งกีดขวางก็จะสะท้อนกลับมา ตัวเซนเซอร์ภายในหมวกก็จะแปลงค่าเป็นระบบสั่น เพื่อสั่นเตือนให้นักกู้ภัยรู้ตัวและหลีกเลี่ยงบริเวณดังกล่าว
เมื่อสวมหมวกที่ว่านี้ นักกู้ภัยไม่ต้องกังวลว่าจะสะดุดหกล้มหรือวิ่งชนกำแพงแม้จะทำงานในที่ที่ปกคลุมไปด้วยควันไฟ หรือมีแสงสว่างน้อย หมวกกู้ภัยระบบสั่นนี้จึงช่วยให้นักกู้ภัยทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็สร้างความอุ่นใจด้านความปลอดภัยด้วย
ทางศูนย์ฯ ได้ทำการวิจัยร่วมกับหน่วยกู้ชีพและอัคคีภัย South Yorkshire เป็นเวลาสองปี โดยทดลองให้นักดับเพลิงได้สวมใส่จริง แล้วพบว่าการติดตั้งระบบสั่นที่หมวก จะกระตุ้นให้ผู้สวมใส่ตื่นตัวเร็วกว่าการกระตุ้นที่มือ เพราะนักกู้ภัยต้องใช้มือปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิตผู้ประสบภัยอยู่ตลอด การติดตั้งระบบเซนเซอร์ที่หมวกจึงมีส่วนช่วยให้นักกู้ภัยปฏิบัติภารกิจได้เต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ในอนาคต ทางศูนย์ฯ ยังมีแผนพัฒนาหมวกกู้ภัยไฮเทครุ่นใหม่ให้มีน้ำหนักเบาลงกว่ารุ่นเดิม เพื่อความสะดวกและความคล่องตัว รวมถึงนำผลงานต้นแบบไปผลิตในปริมาณมาก ก่อนนำไปวางขายจริงตามท้องตลาดเพื่อขยายช่องทางธุรกิจ
นวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกของเทคโนโลยีตลอดเวลา หากเรารู้ทันความเคลื่อนไหว ก็สามารถนำประโยชน์ของมันมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างรายได้ในโลกธุรกิจได้
รายการอ้างอิง :
กู้ภัยไฮเทค. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 31 กรกฎาคม 2556.
– ( 62 Views)