สำนักข่าวไทยนำเสนอข่าวต่างประเทศ
ซิดนีย์ 1 ส.ค.2013 -ออสเตรเลียทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อการวิจัยขนาดใหญ่ที่สามารถจำลองความอุ่นของน้ำทะเลในมหาสมุทร และเป็นที่ดำเนินการวิจัยสำคัญเกี่ยวกับปลาดาวมงกุฎหนาม ซึ่งทำลายแนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟ ในวันนี้
รายงานระบุว่า นายคิม คาร์ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม เปิดพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเนชันแนลซีซิมูเลเตอร์ หรือซีซิม ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างถึง 35 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 992 ล้านบาท) ในเมืองทาวส์วิลล์ ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย นายคาร์กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งนี้เป็นอาวุธสำคัญในการปกป้องปะการังเกรทแบริเออร์รีฟและน่านน้ำอันกว้างใหญ่ของออสเตรเลีย
ด้านสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลออสเตรเลีย (เอมส์) ซึ่งเป็นที่ตั้งของซีซิม ระบุว่า พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ฉลาดที่สุดในโลก โดยมีการเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ๆ และการควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติในระดับที่หน้าทึ่งเข้าไปในซีซิม นักวิจัยจะสามารถดึงเอาตัวแปรต่างๆ ในบ่อน้ำของซีซิม ซึ่งรวมถึงอุณหภูมิน้ำ ความเป็นกรด ความเข้มข้นของเกลือ แสง ระดับสารอาหาร และคุณภาพน้ำ เพื่อทดสอบสมมุติฐานต่างๆ
สิ่งที่ซีซิมจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ การจัดการกับปลาดาวมงกุฎหนามที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างแก่แนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟ โดยนักวิจัยจำเป็นจะต้องเข้าใจว่าเหตุใด ประชากรปลาดาวมงกุฎหนามจึงเพิ่มจำนวนอย่างมากเป็นช่วงๆ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ปะการัง โดยศึกษาให้ได้คำตอบว่าเป็นเพราะสารอาหารในน้ำท่วมหรือมีปัจจัยที่ซับซ้อน กว่านั้น
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่าปลาดาวมงกุฎหนามสื่อสารกันทางสัญญาณเคมี และซีซิมจะหาคำตอบว่าสัญญาณเดียวกันนี้สามารถทำลอกเลียนขึ้นมาใหม่เพื่อหลอกล่อให้ปลาดาวเหล่านี้มารวมตัวกันหรือกระจายตัวกันออกไป เพื่อจะกำจัดได้ง่ายขึ้นได้หรือไม่ และเอมส์หวังว่าจะสามารถหาคำตอบให้กับปัญหาเหล่านี้ และปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับปลาดาวได้ด้วยความช่วยเหลือของซีซิม
นอกจากนี้ซีซิมจะสำรวจกลไกการฟอกขาวของปะการังและวิธีที่ปะการังปรับตัวเข้ากับมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น และมีความเป็นกรดมากขึ้น โดยสามารถทำการวิจัยสิ่งมีชีวิตหลายชนิดและหลาย รุ่นแบบระยะยาวในระดับที่สูงขึ้นกว่าที่มีมา
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท. -
http://www.mcot.net/site/content?id=51fa108e150ba048170000c3#.UfoRbG2ZjGg– ( 64 Views)