magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก สีสมุนไพร…บำบัดอารมณ์
formats

สีสมุนไพร…บำบัดอารมณ์

สี มีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก ในมุมมองทางจิตวิทยา สอดคล้องกับสรรพคุณสมุนไพรไทย

จากการศึกษาวิจัยทางด้านจิตวิทยา ระบุไว้ว่า  สีต่างๆมีผลกระทบต่อ อารมณ์ ความรู้สึกของคน 2  ลักษณะ คือ  หนึ่ง สีเย็น ที่มีภาวะหยิน มีผลทางด้านยับยั้งอารมณ์ ความรู้สึก ได้แก่ สีน้ำเงิน  สีฟ้า สีเขียว สีม่วง สีดำ สีขาว ทำให้เกิดการผ่อนคลาย สงบนิ่ง  สอง  สีร้อน ที่มีภาวะหยาง มีผลทางด้านกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก ได้แก่ สีแดง สีส้ม สีเหลือง
หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมสีจึงมีผลต่อความรู้สึก

คำตอบคือ  ในร่างกายของคนเรามีต่อมต่อมหนึ่ง ที่เรียกว่า “ต่อมไพเนียล” ซึ่งต่อมนี้จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อแต่ละสีแตกต่างกันไป และการตอบสนองที่มีต่อสีต่าง ๆ นั้นจะส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และจิตใจในขณะนั้น ๆ

คุณหมอแววใจ พิมพิลา แพทย์แผนไทยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อธิบายว่าจากการศึกษาสีและลักษณะของต้นไม้ พวกพืชผัก สมุนไพร พบว่ากลุ่มสมุนไพรที่มีสีเดียวกัน ส่วนใหญ่มักมีสรรพคุณคล้ายกัน
กับมุมมองทางจิตวิทยา  จึงสามารถนำมาประยุกต์เรื่องของการบริโภคสมุนไพรที่มีสีต่างๆในชีวิตประจำวันได้

เรามาลองทำความรู้จักความสัมพันธ์เรื่องสีกับสมุนไพรกันก่อน…เผื่อจะนำมาใช้บำบัดอารมณ์และจิตใจตนเองหรือของคนรอบข้าง

เริ่มต้นจาก “สีเหลือง” เป็นสีแห่งสติปัญญา ความเบิกบาน ร่าเริง มีชีวิตชีวา แจ่มใส  ความคิดสร้างสรรค์ การมองโลกในแง่ดี สรรพคุณสมุนไพรสีเหลืองส่วนใหญ่ มีฤทธิ์ช่วยในการขับลม ช่วยให้น้ำดีในลำไส้ทำงานได้ดี อาทิ ขมิ้นชัน ดาวเรือง ขิง

เมนูจากสมุนไพรสีเหลืองแนะนำ
ชาชงดอกดาวเรือง
วิธีทำ
1. นำดอกดาวเรืองมาล้างให้สะอาด
2. นำไปตากแดดให้แห้ง
3. นำมาคั่วหรืออบแห้งเพื่อสามารถเก็บไว้ได้นาน
4. เก็บใส่ขวดให้มิดชิด ปิดฝาให้แน่น

วิธีรับประทาน
ใช้ดอกดาวเรืองประมาณ 1-2 ดอกหรือหยิบมือ ใส่ในแก้วน้ำ เทน้ำร้อนที่เดือดแล้วลงไป ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที ให้ตัวยาละลายออกมาจึงดื่ม นอกจากนี้ยังสามารถใช้กินเป็นผัก โดยใช้ดอกดาวเรืองที่ยังตูม นำมาลวกจิ้มกับน้ำพริก ดอกบานนำมาปรุงแบบยำผสมเนื้อสัตว์ ราดน้ำยำแบบน้ำจิ้มไก่หรือน้ำจิ้มทอดมัน อาจนำไปผัด เป็นกับข้าว หรือชุบแป้งทอด ก็จะได้อาหารว่างที่มีประโยชน์และอร่อยไปอีกแบบ โดยสรรพคุณของดอกดาวเรืองตามตำรายา คือ บำรุงสายตาได้ดี ฟอกเลือด ละลายเสมหะ ขับลม ขับร้อน แก้ไอหวัด ไอกรน เต้านมอักเสบ คางทูม แก้เวียนศีรษะ

ต่อมา “สีเขียว” เป็นสีแห่งการพัฒนา เป็นสีที่สื่อถึงความสงบ เยือกเย็น ความผ่อนคลาย สรรพคุณสมุนไพรสีเขียว ส่วนมากมีฤทธิ์เย็น ช่วยให้ผ่อนคลาย สร้างสมดุล  ช่วยในการลดความดันโลหิต บำรุงหัวใจ ป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด อาทิ ใบเตย บัวบก ย่านาง

เมนูจากสมุนไพรสีเขียวแนะนำ
ชาเตยหอม
วิธีทำ
1.ล้างใบเตยให้สะอาด จากนั้นก็นำมาหั่นให้ละเอียด
2.นำไปตากแดดให้แห้ง
3.นำมาคั่วหรืออบแห้ง
4.เก็บใส่ขวดให้มิดชิด ปิดฝาให้แน่น

วิธีรับประทาน
ชาใบเตยสัก 1 หยิบมือ ใส่ในแก้วน้ำ เทน้ำร้อนจนเดือด ลงไป ทิ้งไว้ให้ตัวยาจากใบเตยละลายก่อน แล้วจึงดื่ม ด้วยสรรพคุณที่ช่วยบำรุงหัวใจ จึงแนะนำผู้ป่วยที่หัวใจไม่ค่อยแข็งแรง ให้พกชาใบเตย ติดกระเป๋า ดื่มเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ดับพิษ และช่วยชูกำลังได้

ถัดมา“สีม่วง”เป็นสีแห่งจิตวิญญาณ การหยั่งรู้ สื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ มีความคิดและการมองเห็นกว้างไกล  พัฒนาการเรียนรู้เร็ว สีม่วง ทำให้เกิดการสงบนิ่ง ทำให้อารมณ์ถูกกดลง ผ่อนคลาย นอนหลับ ลดการกระตุ้นความกังวล

สรรพคุณสมุนไพรสีม่วงช่วยในการเพิ่มการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดฝอย เพิ่มความจำ ช่วยในการบำรุงสายตา อาทิ องุ่นแดง มะเขือม่วง มันต่อเผือก ดอกอัญชัน ลูกหม่อน

เมนูจากสมุนไพรสีม่วงแนะนำ
ชาอัญชัน
วิธีทำ
1.ล้างดอกอัญชันให้สะอาด
2.นำไปตากแดดให้แห้ง
3.นำมาคั่วหรืออบแห้ง
4.เก็บใส่ขวดให้มิดชิด ปิดฝาให้แน่น

วิธีรับประทาน
ใช้ดอกอัญชันประมาณ 4-5 ดอกหรือหนึ่งหยิบมือใส่ในแก้วน้ำ เทน้ำร้อนที่เดือดแล้วลงไป ทิ้งไว้ให้ตัวยาละลายออกมา หรือทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที จึงดื่ม ดอกอัญชันมีสารแอนโธไซยานินเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอยทำให้เลือดไปเลี้ยงรากผมและนัยน์ตามากขึ้น มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ บรรเทาอาการผมร่วงใช้ผสมอาหารให้สีม่วง สามารถกินเป็นผักได้

สุดท้าย “สีขาว”เป็นสีแห่งความบริสุทธิ์ สะอาด สมุนไพรสีขาว ช่วยทำให้ภายในร่างกายสะอาด ขับปัสสาวะ ขับของเสียออกจากร่างกาย เป็นยาบำรุงปอด ฟอกเลือด อาทิ หญ้าดอกขาว บานไม่รู้โรยดอกขาว

เมนูจากสมุนไพรสีขาวแนะนำ
ชาบานไม่รู้โรยดอกขาว
วิธีทำ
1.ล้างดอกบานไม่รู้โรยให้สะอาด
2.นำไปตากแดดให้แห้ง
3.นำมาคั่วหรืออบแห้ง
4.เก็บใส่ขวดให้มิดชิด ปิดฝาให้แน่น

วิธีรับประทาน
ใช้ดอกบานไม่รู้โรยประมาณ 1-2 ดอก ใส่ในแก้วน้ำ เทน้ำร้อนที่เดือดแล้วลงไป ทิ้งไว้ให้ตัวยาละลายออกมา หรือทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที จึงดื่ม หรือใช้วิธีการต้มเดือด ซึ่งมีสรรพคุณบำรุงตับ แก้ตาเจ็บ แก้ไอ ระงับหอบหืด แก้ปวดศีรษะ บิด ไอกรน แผลผื่นคัน ฝีประคำร้อย ได้อีกด้วย

สี อารมณ์ สมุนไพรกับสรรพคุณทางยา มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ถ้าเราสามารถเข้าใจและนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม สามารถทำให้มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงได้ โดยอาศัยปรับสมดุลอย่างง่ายด้วยตนเอง

รายการอ้างอิง :

กอห์นนี่. สีสมุนไพร…บำบัดอารมณ์. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (Life Style : สุขภาพ). วันที่ วันที่ 6 ตุลาคม 2555.– ( 386 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ 4 = eleven

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>