กรุงเทพฯ 4 ส.ค.2556 -นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่าที่ผ่านมากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุน สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (ERDI) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดกลาง-ใหญ่ โดยมุ่งเน้นไปที่ฟาร์มสุกร จนประสบความสำเร็จและปัจจุบันได้พัฒนาเทคโนโลยี ก๊าซชีวภาพอย่างต่อเนื่องจนสามารถประยุกต์ใช้กับปศุสัตว์ได้หลายประเภทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟาร์มไก่เลี้ยง
และจากการสำรวจศักยภาพของฟาร์มเลี้ยงไก่ทั่วประเทศ พบว่ามีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพได้ไม่น้อยกว่า 462 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ได้ถึง 554 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1,663 ล้านบาท ดังนั้นระหว่างปี 2553 – 2556 กองทุนฯ จึงได้สนับสนุนงบประมาณ 118 ล้านบาท ให้ ERDI ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิต ก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงไก่ ระยะที่ 1 และทั้งนี้จากผลการดำเนินโครงการฯ เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการให้การตอบรับเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงไก่
ระยะที่ 1 มากถึง 16 ฟาร์ม สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 11,025,960 ลูกบาศก์เมตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าทดแทนพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี โดย สนพ. มีเป้าหมายจะดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ร้อยละ 25 ใน 10 ปี (2555 – 2564) หรือแผน AEDP ที่กำหนดให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 7,413 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบเพิ่มเป็น 25,000 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2564 หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานรวม
ด้านนายชุมพร แสนขวา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีวิโรจน์ ฟาร์ม จำกัด จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่าบริษัทฯ ให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพใน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สนพ. และ ERDI โดยระบบดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้ เป็นพลังงานทดแทนช่วยลดค่าใช้จ่ายและยังสามารถ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและกลิ่นเหม็นจากมูลไก่ ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีปริมาณมูลไก่ประมาณ 120 ตันต่อวัน
แบ่งสัดส่วนการใช้มูลไก่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ใช้เลี้ยงปลา ผลิตปุ๋ย และผลิตก๊าซชีวภาพ สำหรับมูลไก่ที่เข้าสู่ระบบก๊าซชีวภาพมีประมาณ 40 ตันต่อวัน สามารถผลิตก๊าซชีวภาพ วันละ 3,200 ลูกบาศก์เมตร นำไปใช้เป็นพลังงานความร้อนเพื่อทดแทนก๊าซแอลพีจีในการอบแห้งปุ๋ย ประมาณ 1,500 กิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 บาทต่อวัน.
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท. -
http://www.mcot.net/site/content?id=51fe4423150ba0595400013c#.Uf8Iom2ZjGg– ( 179 Views)