สำนักข่าวไทยนำเสนอข่าวเกษตร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8 ส.ค.-นักวิชาการจุฬาฯ ให้ติดตามผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วในทะเล จ.ระยอง อีก 1-3 ปี พร้อมเสนอ 5 ข้อเตรียมความพร้อมสังคมไทยรับมือปัญหาลักษณะนี้ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นอีกในอนาคต
คณาจารย์และนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำโดย รศ.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ กล่าวว่า แม้ขณะนี้จะสามารถกำจัดคราบน้ำมัน ไปได้กว่าร้อยละ 95 แล้ว แต่การจัดการยังไม่นิ่ง มีคราบน้ำมันและสารตกค้างหลุดรอดและกระจายตัวไปจนถึงอ่าวพร้าว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งล่าสุดการที่มีปะการังฟอกขาวใน พื้นที่ไม่ใช่เหตุปะการังตายเฉียบพลัน แต่แสดงว่าเหตุน้ำมันน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง แต่ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด จากนี้เชื่อว่าปะการังบริเวณดังกล่าวซึ่งอยู่ในภาวะปานกลางถึงเสื่อมโทรม จะตายเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายจะต้องติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากเหตุการณ์นี้ต่อเนื่องไปอีก 1-3 ปี โดยที่น่ากังวลคือการสะสมของน้ำมันในบริเวณอ่าว เกาะ และท้องทะเล แต่เห็นว่าการจะปิดอ่าว หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขนส่งนั้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ส่วนความเห็นเรื่องปริมาณน้ำมันรั่วว่าจะเป็นจำนวน 50,000 ลิตรจริงหรือไม่นั้น นักวิชาการระบุว่า จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ แต่จากการดูเบื้องต้น ตัวเลขไม่น่าจะแตกต่างหรือเพิ่มขึ้นมากนัก
รศ.เผดิมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในรอบ 30 ปี เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลถึง 124 เหตุการณ์ เหตุน้ำมันรั่วที่ระยองจึงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ดังนั้นจุฬาฯ มี 5 ข้อเสนอแนะต่อสังคม คือ ประเทศไทยต้องมี การพัฒนาแผนปฏิบัติการแก้ปัญหา มีศูนย์ข้อมูลกลาง มีความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ มีแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาระยะยาว และมีงานวิจัยแบบบูรณาการ โดยจุฬาลงกรณ์ฯ พร้อมให้ความร่วมมือทำงาน และสนับสนุนการวิจัย โดยได้จัดสรรทุนวิจัยแบบเร่งด่วนให้อาจารย์และนิสิตลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำ ดิน และสัตว์น้ำในทะเลรวม 13 จุด พร้อมตั้งศูนย์รับข้อมูลน้ำมันรั่วไหล (CU-TOS) ด้วย
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท. -
http://www.mcot.net/site/content?id=5203617e150ba0f604000294#.UgROJD-ZjGg– ( 49 Views)