ความปลอดภัยด้านอาหารกลายเป็นเรื่องที่ทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปให้ความสำคัญ ขณะที่เมืองไทยก็เป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการส่งออกเมล็ดพันธุ์และผลิตผลทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก
การตรวจสอบเชื้อก่อโรคต่าง ๆ จึงต้องเข้มงวดมีมาตรฐาน และกลายเป็นต้นทุนที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการทั้งด้านค่าใช้จ่ายและเวลา
“ดร.รัฐพล เฉลิมโรจน์” นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น ทำให้สนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับแอนติบอดีในเชื้อก่อโรคของพืชตระกูลแตง เช่น แตงโม แตงกวา ที่มักพบเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ซึ่งมีผลทำให้ผลเน่าหรือรูปร่างผลที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม จึงต้องมีการตรวจสอบเชื้อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นดร.รัฐพล บอกว่า ขณะที่เข้าศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยควีนส์เบลฟาส ภายใต้ความร่วมมือวิจัยระหว่างไบโอเทคกับมหาวิทยาลัยดังกล่าว ในโครงการพัฒนากำลังคนระดับสูงผ่านเครือข่ายความร่วมมือกับต่างประเทศ
ได้พัฒนาชุดตรวจหาเชื้อก่อโรคในพืชที่สามารถตรวจได้ทีละหลาย ๆ ชนิดในครั้งเดียว โดยอาศัยการจับกันอย่างจำเพาะของแอนติบอดีกับเชื้อที่ต้องการตรวจหา
สิ่งที่ได้คือชุดตรวจต้นแบบที่มีประสิทธิภาพสูง ราคาถูกเกือบ 5 เท่าของชุดตรวจที่มีก่อนหน้านี้ เร็วกว่า 3 เท่าของชุดตรวจปกติ และสามารถตรวจเชื้อได้ทีละหลายเชื้อในเวลาเดียวกัน ซึ่งชุดตรวจทั่วไปไม่สามารถทำได้
ผลงาน ดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ
ทั้งนี้คณะวิจัยอยู่ระหว่างนำต้นแบบไปทดสอบการ ใช้งานจริง โดยได้รับการอนุ เคราะห์ตัวอย่าง เมล็ดพันธุ์จากภาคเอกชน และจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อใช้ประเมินประสิทธิภาพของชุดตรวจต้นแบบ
คาดว่าอีก 2 ปี จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป.
รายการอ้างอิง :
ชุดตรวจเชื้อก่อโรคในพืช. เดลินิวส์ (กรอบบ่าย). ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556.– ( 41 Views)