magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก ยานสำรวจ “ดาวพลูโต” อาจโดนทำร้ายจากดวงจันทร์พลูโต
formats

ยานสำรวจ “ดาวพลูโต” อาจโดนทำร้ายจากดวงจันทร์พลูโต

ยานนิวฮอไรซอนส์ของนาซากำลังมุ่งหน้าไปหาพลูโต (บีบีซีนิวส์)

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ได้ส่ง “ยานนิวฮอไรซอนส์” (New Horizons) โดยมีเป้าหมายเพื่อเดินทางผ่านระบบสุริยะมุ่งหน้าสู่ “ดาวพลูโต” (Pluto) อดีตดาวเคราะห์ที่ถูกปรับให้เป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) ซึ่งได้เดินทางมาเกือบ 7 ปีแล้ว  การเดินทางต้องใช้ระยะเวลาทั้งหมด 9 ปีครึ่งสู่เป้าหมาย แต่นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าดวงจันทร์ของดาวเคราะห์แคระ 2 ดวงโคจรรอบพลูโตอันหนาวเหน็บ ทำให้พวกเขาทราบว่ามีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นที่จะมีเศษเล็กเศษน้อยรอบดาวเคราะห์แคระ ซึ่งทำอันตรายต่อยานอวกาศได้อาจมีแนวโน้มเป็นอันตรายต่อยานของนาซา ซึ่งกำลังเดินทางเข้าใกล้เป้าหมายอยู่ในขณะนี้

ดร.อลัน สเทิร์น (Dr.Alan Stern) หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ในปฏิบัติการยานนิวฮอไรซอนส์กล่าวว่า พวกเขาพบดวงจันทร์ที่โคจรรอบพลูโตมากขึ้นเรื่อยๆ และจนถึงตอนนี้นับได้ 5 ดวงแล้ว และดวงจันทร์ทั้งที่พบแล้วและยังไม่พบนั้นทำตัวเหมือนตัวสร้างเศษอันตรายในระบบของพลูโต โดยทำให้เกิดเศษซากมีคมจากการชนกันระหว่างดวงจันทร์เหล่านั้นกับวัตถุในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt)

สำหรับดวงจันทร์ทั้ง 5 ดวงของพลูโตที่พบแล้ว คือ ชารอน (Charon) ซึ่งถูกค้นพบเมื่อปี 1978 ไฮดรา (Hydra) และนิกซ์ (Nix) ที่ถูกค้นพบเมื่อปี 2005 และ เอส/2011พี1 (S/2011 P 1) กับ เอส/2012พี1 (S/2012 P 1) ที่ถูกพบด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) เมื่อปี 2011

ด้าน ฮอล วีเวอร์ (Hal Weaver) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการยานนิวฮอไรซอนส์จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ (Applied Physics Laboratory) ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ (Hopkins University) ในแมรีแลนด์ สหรัฐฯ กล่าวว่า ยานฮอไรซอนส์นั้นเดินทางด้วยความเร็วกว่า 48,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้น การปะทะกับก้อนกรวดเล็กๆ หรือมีขนาดไม่ถึงมิลลิเมตรเพียงชิ้นเดียว ก็สามารถทำลายยานอวกาศได้เลยทีเดียว

ดังนั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงต้องสำรวจบริเวณที่เศษซากอันตรายให้ทั่ว โดยนักวิทยาศาสตร์ในปฏิบัติการนี้จึงอาศัยแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้น รวมถึงกล้องฮับเบิลเพื่อค้นหาเศษซากที่อยู่ในวงโคจรรอบพลูโต ขณะเดียวกันทีมนักวิทยาศาสตร์ก็วางทางเลือกเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับยานอวกาศ เพราะยิ่งใกล้ระบบพลูโตมากขึ้น ยิ่งต้องพยายามรักษาภารกิจทางวิทยาศาสตร์เอาไว้ให้ได้

เลสลี ยัง (Leslie Young) นักวิทยาศาสตร์ผู้ช่วยในโครงการกล่าวว่า จากที่ได้ประเมินไว้ พวกเขายังคงปฏิบัติภารกิจหลักที่ตั้งเป้าไว้ได้ หากทำการบินระยะที่ประเมินแล้วว่าปลอดภัย ซึ่งแม้ปรารถนาที่จะเข้าใกล้พลูโตให้ได้มากที่สุด แต่การเข้าใกล้มากขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงปะทะกับเศษซากอันตราย รวมถึงวงแหวนที่อาจจะมีในระบบอันซับซ้อนของดาวเคราะห์แคระได้

สำหรับยานนิวฮอไรซอนส์นั้นถูกส่งขึ้นไปจากฐานปล่อยจรวดในสถานีกองทัพอากาศคานาเวอรัล (Cape Canaveral Air Force Station) ในฟลอริดา สหรัฐฯ โดยติดขึ้นไปบนรวดแอตลาส (Atlas) เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2006 และคำนวณว่ายานอวกาศจะไปถึงพลูโตในวันที่ 14 ก.ค.2015 และจะเป็นปฏิบัติการสำรวจแรกในแถบไคเปอร์ ซึ่งเป็นบริเวณด้านนอกวงโคจรของดาวเนปจูนที่มีเศษน้ำแข็งจำนวนมากที่เหลือจากกำเนิดระบบสุริยะ

แหล่งที่มา : แย่ล่ะ ดวงจันทร์ พลูโต อาจทำอันตรายยานนาซา. ASTV ผู้จัดการออนไลน์ (20 ตุลาคม 2555). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้ที่ : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000128051. (วันที่ค้นข้อมูล 26 ตุลาคม 2555).– ( 219 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ one = 2

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>