ภายในงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2555 (TechnoMart InnoMart 2012) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบอุปกรณ์ติดตามสถานการณ์น้ำอัตโนมัติ (Media Box) ให้แก่เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 132 แห่ง ทั่วประเทศ
Media box เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลติดตามสภาพอากาศ เข้าถึงท้องถิ่นและชุมชนได้โดยสะดวก เพื่อใช้ติดตามสภาพอากาศปัจจุบัน และข้อมูลคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าอย่างง่าย ด้วยเทคโนโลยี RSS News Feed โดยอุปกรณ์สามารถแสดงข้อมูลสภาพอากาศ การคาดการณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า 3–7 วัน สถานการณ์น้ำทั่วประเทศ การก่อตัวของพายุ รวมทั้งข้อมูลประกอบอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อการติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ
อุปกรณ์ดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ส่งมอบ Media Box ให้กับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลที่ได้เข้าร่วมโครงการไปแล้ว จำนวน 112 แห่งทั่วประเทศ เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา
นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการ สสนก. บอกว่า มีเดีย บ๊อกซ์ มีความสามารถในการรายงานสถานการณ์น้ำ และคาดการณ์ปริมาณฝนจากสถานีตรวจวัดทั่วประเทศ รวมถึงข้อมูลที่ต้องการส่งต่อให้ชุมชนผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ผ่านระบบ RSS ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าของระบบเตือนภัยในคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา
อุปกรณ์ดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัย สสนก. และทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้ต้นทุนประมาณ 2 พันบาท ในการดัดแปลงซอฟต์แวร์เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ที่มีอยู่เดิม เพื่อให้ใช้งานได้เฉพาะกิจ
ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวอยู่ภายใต้บันทึกข้อตกลง การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีการขยายผลการดำเนินงานจากระดับภูมิภาค สู่รายจังหวัด และเข้าถึงท้องถิ่นระดับตำบล โดยนอกจากอุปกรณ์ติดตามสถานการณ์น้ำอัตโนมัติแล้ว ปัจจุบันได้ดำเนินโครงการพัฒนาภูมิสารสนเทศน้ำระดับตำบล เพื่อผลักดันและพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ในการใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศสนับสนุนการวางแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำและอุทกภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่
“การที่ชุมชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง และสามารถเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ สู่ชุมชน ทำให้มีข้อมูลเพียงพอสำหรับติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ เพื่อวางแผนทำการเกษตรในภาวะปกติ และใช้ประเมินสถานการณ์ในช่วงวิกฤติได้” ดร.รอยลกล่าว
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีหน่วยงานท้องถิ่นทั้งระดับอำเภอ เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล เข้าร่วมดำเนินงานแล้วกว่า 300 แห่ง ที่สามารถจัดทำข้อมูลภูมิสารสนเทศ (GIS) สำหรับใช้งานในพื้นที่ของตนเองได้ และ 244 ตำบลที่ได้รับอุปกรณ์ติดตามสถานการณ์น้ำอัตโนมัติไปใช้งาน
– ( 173 Views)