magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก “ไรโซ” นวัตกรรมปุ๋ยชีวภาพ
formats

“ไรโซ” นวัตกรรมปุ๋ยชีวภาพ

แม้ว่าการค้าขายผลผลิตทางการเกษตร จะสร้างรายได้หลักให้กับประเทศ แต่ที่ผ่านมาไทยยังคงพึ่งพาการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงปุ๋ยเคมี ที่ปัจจุบันไทยยังไม่มีแหล่งวัตถุดิบที่จะผลิตในเชิงพาณิชย์ ทำให้ตัวเลขการนำเข้าปุ๋ยเคมีสูงถึง 4 ล้านตันต่อปี มีมูลค่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท อีกทั้งแนวโน้มความต้องการยังคงเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี
ขณะที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ภาคเอกชนไทยมองเห็นถึงศักยภาพ และโอกาสในการพัฒนาปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ทดแทน

“นายพันธ์ยศ ไวยากรณ์วิลาศ” ผู้บริหาร บริษัท วี ไบโอเทค จำกัด หนึ่งในเอกชนที่เช่าพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี โดยได้รับการผลักดันจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บอกว่า ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านทรัพยากรชีวภาพ จึงเริ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อการส่งออก แต่เนื่องจากปุ๋ยดังกล่าวยังมีข้อจำกัดคือต้องเก็บไว้ในห้องเย็น ทำให้การใช้งานไม่สะดวกเท่าที่ควร บริษัทจึงเริ่มมองหางานวิจัย ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาปุ๋ยชีวภาพ

ซึ่ง สวทช. ได้มีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้ บ.วี ไบโอเทค ได้เช่าสิทธิเทคโนโลยีจากการวิจัย “ปุ๋ยไรโซ” ของ รศ.ดร.กาญจนา ชาญสง่าเวช นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เริ่มต้นศึกษาและพัฒนาปุ๋ยชีวภาพ ในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยมากว่า 10 ปี

โดยเป็นการวิจัยและพัฒนาปุ๋ยชีวภาพจากแบคทีเรียประเภทไรโซเบียม ที่เริ่มต้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาให้กับภาคการเกษตร และสามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจ มีการทดสอบภาคสนามร่วมกับเอกชน ซึ่งผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ

รศ.ดร.กาญจนา บอกว่า “ปุ๋ยไรโซ” เกิดขึ้นจากงานวิจัยที่ได้คัดเลือกจุลินทรีย์ 3 สายพันธุ์ ที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนไนโตรเจนในอากาศให้กลายเป็นแอมโมเนียเกาะอยู่ บริเวณปมราก ซึ่งเป็นอาหารที่พืชต้องการ โดยเฉพาะ “ถั่วเหลือง”

ผลการทดสอบภาคสนามใน 22 ตำบล 4 จังหวัด ได้แก่ น่าน สุโขทัย พิษณุโลก และแพร่ ให้ข้อมูลยืนยันที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยปุ๋ยสูตรพิเศษนี้ ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรผ่านสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552

ด้วยคุณสมบัติพิเศษของ ปุ๋ยไรโซ ที่เหนือกว่าปุ๋ยไรโซเบียมถั่วเหลืองทั่วไปในท้องตลาด คือ สามารถคงสภาพในการเก็บรักษาได้ดีในอุณหภูมิห้องปกติ โดยไม่ต้องเก็บในที่เย็นหรือแช่ในตู้เย็น สามารถใช้แทนปุ๋ยเคมีที่ถูกชะล้างลงแหล่งน้ำ ช่วยปรับสภาพความเป็น กรดด่างของดิน อีกทั้งมีเทคโนโลยีลายพิมพ์ดีเอ็นเอที่ช่วยยืนยันประสิทธิภาพ ทำให้ปุ๋ยไรโซเป็นที่น่าจับตาในมุมมองเอกชน

การันตีความโดดเด่นของนวัตกรรมด้วยรางวัลเหรียญทองในสาขาการเกษตร จากการประกวดผลงานนวัตกรรมระดับอาเซียน หรือไอเท็กซ์ 2012 ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีผลงานนวัตกรรมเข้าประกวดกว่า 840 โครงการจาก 14 ประเทศ

อนาคตพืชหมุนเวียนอย่างถั่วเหลืองจะเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากรัฐบาลส่งเสริม จึงเป็นโอกาสของปุ๋ยไรโซ นวัตกรรมคนไทยที่นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีแล้วยังสามารถส่งออกไปขาย ยังต่างประเทศได้อีกด้วย

รายการอ้างอิง :

“ไรโซ” นวัตกรรมปุ๋ยชีวภาพ. เดลินิวส์ (ไอที). วันที่ 4 ตุลาคม 2555.– ( 161 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


one + = 6

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>