ก่อนการประกาศใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2540 สิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมีอยู่อย่างจำกัด การดำเนินงานของส่วนราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ภายในกรอบปฏิบัติของระบบราชการ ซึ่งถือการปกปิดเป็นหลัก การเปิดเผยเป็นกรณียกเว้น จึงทำให้การบริหารราชการและการให้บริการแก่ประชาชนที่ผ่านมาไม่เป็นไปด้วยดี
พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มีเจตนารมณ์อันเป็นความคิดพื้นฐานสำคัญ 5 ประการ คือ
- เพื่อเป็นการประกันสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Right to know) ในการดำเนินการต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐอย่างกว้างขวาง และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารของหน่วยงานของรัฐ อันจะนำไปสู่กระบวนการบริหารของรัฐที่เป็นธรรม เสมอภาคและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้การดำเนินงานมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
- เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องตามความเป็นจริงซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศให้มั่นคงและส่งเสริมรัฐบาลโดยประชาชน
- เพื่อความจำเป็นในการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารบางประเภท (Need to protect) ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์ที่สำคัญของเอกชน และคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารของทางราชการไปพร้อมกัน
- เพื่อส่งเสริมการปฏิรูประบบราชการ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและต่อประชาชน
- เพื่อการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยการจำแนกและจัดระบบเพื่อให้การนำไปใช้ประโยชน์ (การเปิดเผย) และการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
จากเจตนารมณ์ข้างต้น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 จึงประกอบด้วยเนื้อหาดังนี้ (ติดตามอ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.nstda.or.th/attachments/13459_act2540_170853.pdf (ฉบับภาษาไทย) และ http://www.nstda.or.th/attachments/13459_act2540eng.pdf (ฉบับภาษาอังกฤษ))
- หมวดที่ 1 ตั้งแต่มาตรา 7-13 บัญญัติถึงการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐต้องส่งลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีไว้ประชาชนเข้าตรวจดู และข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดหาข้อมูลให้แก่ประชาชนผู้ขอ
- หมวดที่ 2 มาตรา 14-20 บัญญัติถึงการไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยให้คำนึงถึงองค์ประกอบหลักสามประการ คือ การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐเป็นประการที่หนึ่ง ประโยชน์สาธารณะเป็นประการที่สอง และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นประการที่สาม นอกจากนี้ ยังให้คำนึงถึงข้อมูลข่าวสารที่หากเปิดเผยแล้วหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชอบตามกฎหมายขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องรับผิดหากกระทำโดยสุจริต
- หมวดที่ 3 มาตรา 21-25 บัญญัติถึงการเปิดเผยและการจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ
- หมวดที่ 4 มาตรา 26 บัญญัติถึงการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารประเภทเอกสารประวัติศาสตร์เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้า
- หมวดที่ 5 มาตรา 25-34 บัญญัติถึงที่มา อำนาจ หน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
- หมวดที่ 6 มาตรา 35-39 บัญญัติถึงที่มา อำนาจ และหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
- หมวดที่ 7 มาตรา 40-41 บัญญัติถึงกำหนดบทกำหนดโทษ
- บทเฉพาะกาล ในมาตรา 42-43
จาก การปกปิดเป็นหลัก การเปิดเผยเป็นกรณียกเว้น จึงเป็น เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น– ( 186 Views)