ผลงานไบโอเทค ได้รับรางวัลโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2556 จากคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา โดยมีพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณโดย นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556 ณ อาคารรัฐสภา
ในปีนี้มีผลงานของนักวิจัยไบโอเทคได้รับรางวัล 3 ผลงาน ได้แก่
1. ผลงานเรื่อง “งานวิจัย พัฒนาสารต้านมาลาเรีย” โดย ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นักวิจัยอาวุโส หน่วยวิจัยชีววิทยาโมเลกุลทางการแพทย์ ได้รับรางวัล “ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์”
ศ. ดร. ยงยุทธ มีบทบาทสำคัญในงานวิจัยด้านมาลาเรียของประเทศไทย โดยมีผลงานที่สำคัญคือ การค้นพบโครงสร้างของเอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลต รีดักเทส ไธมิดิเลตซินเธส (dihydrofolate reductase-thymidylate synthase, DHFR-TS) ซึ่งเป็นเป้าหมายของยากลุ่มแอนติโฟเลต ทำให้เข้าใจกลไกการดื้อยากลุ่มดังกล่าว ผลงานดังกล่าวทำให้สามารถต่อยอดงานวิจัยและนำไปสู่การค้นพบสารต้นแบบ P218 ซึ่งเป็นสารแอนติโฟเลตต้านมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพและความจำเพาะสูง การทดสอบเบื้องต้นพบว่า สาร P218 ไม่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยและความเป็นพิษทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง หากสามารถตรวจสอบความปลอดภัยทางเภสัชวิทยาและความเป็นพิษของสาร P218 ในระดับพรีคลินิกจะสามารถผลักดันเพื่อเข้าสู่การทดสอบในระดับคลินิกในคนต่อ ไป โดยหากสารดังกล่าวสามารถผ่านการทดสอบทั้งในสัตว์ทดลองและอาสาสมัคร จะเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของวงการวิจัยด้านมาลาเรียในประเทศไทย ที่มียารักษาโรคมาลาเรียซึ่งพัฒนาขึ้นโดยทีมนักวิจัยไทยเป็นครั้งแรก
2. ผลงานเรื่อง “เทคโนโลยีเอนไซม์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ” โดย ดร. ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา นายพิษณุ ปิ่นมณี และนายนกุล รัตนพันธ์ ได้รับรางวัล “ประเภทองค์กรภาครัฐ“
เทคโนโลยี เอนไซม์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ เป็นการใช้เทคนิคเมตาจีโนมคัดแยกเอนไซม์ไซแลนเนสจากแบคทีเรียในลำไส้ปลวก และตั้งชื่อว่า ENZbleach มีคุณสมบัติที่สามารถทำงานได้ดีในสภาวะที่เป็นด่างสูง จึงนำไปใช้ในกระบวนการฟอกเยื่อกระดาษได้โดยไม่ต้องปรับพีเอช ของเยื่อกระดาษเหมือนกับการใช้เอนไซม์ทางการค้าทั่วไป ENZbleach เป็นเอนไซม์ที่ไม่มีกิจกรรมของเอนไซม์เซลลูเลสเจือปน ทำให้ไม่ลดความแข็งแรงของเยื่อกระดาษ ดังนั้นการฟอกเยื่อกระดาษด้วย ENZbleach จึงช่วยลดการใช้พลังงานและสารเคมีในกระบวนการฟอกเยื่อกระดาษ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน และเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม
3. ผลงานเรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพและใช้ประโยชน์จากของเสียของอุตสาหกรรมการ เกษตร” โดยคณะนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ประโยชน์จาก ของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร (ECoWaste) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการวิจัยร่วมระหว่างไบโอเทค และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับรางวัล “ประเภทองค์กรภาครัฐ”
เทคโนโลยี ผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ เป็นระบบที่ให้จุลินทรีย์ที่ย่อยสลายและผลิตก๊าซชีวภาพเกาะตัวบนตัวกลางซึ่ง เป็นวัสดุที่ผลิตในประเทศ ราคาไม่สูง ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีขนาดของระบบเล็กลง ใช้เงินลงทุนที่ต่ำ ข้อดีของการที่จุลินทรีย์เกาะอยู่บนตัวกลางทำให้ไม่สูญเสียจุลินทรีย์ออกจาก ระบบได้ง่าย ระบบมีเสถียรภาพ การดูแลและควบคุมระบบไม่ซับซ้อน เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศ เทคโนโลยีนี้ได้ถูกถ่ายทอดไปยังภาคอุตสาหกรรม ช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถบำบัดน้ำเสียเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพใช้ทดแทน น้ำมันเตาในหม้อต้มน้ำมันร้อน และใช้เดินเครื่องยนต์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงาน ลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับชุมชนข้างเคียงโครงการวิทยา ศาสตร์สู่ความเป็นเลิศเป็นรางวัลที่ มอบให้กับบุคคล องค์กรภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชน ที่ได้ประดิษฐ์ คิดค้น และนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ประกอบกิจกรรมหรือประกอบกิจการ จนก่อให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2556 มีผลงานที่ได้รับเลือกจำนวน 393 ผลงาน
รายการอ้างอิง :
ผลงานไบโอเทค ได้รับรางวัลโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2556 จากคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา โดยมีพิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณโดย นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556 ณ อาคารรัฐสภา.– ( 78 Views)