นักเทคโนโลยีแห่งเนคเทค แบ่งปันความรู้จากการเดินทางไปดูงานเทคโนโลยีจอแสดงภาพ Flexible Electronics ของ ITRI ศูนย์วิจัยแห่งไต้หวัน
เทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามามีบทบาทอย่างมากในระยะหลังนี้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาถูก นอกจากเราจะมีแผงเซลล์สุริยะหรือโซลาร์เซลล์ ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบเดียวกับการผลิตหนังสือพิมพ์ นั่นคือ พิมพ์ออกมาแบบเป็นแผ่นหรือม้วนด้วยความเร็วสูงออกจากแท่นพิมพ์ในโรงงาน
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายอย่าง ก็สามารถสร้างด้วยการพิมพ์ลงบนแผ่นพลาสติกที่มีราคาถูกและโค้งงอได้ เกิดเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่โค้งงอได้ หรือที่เรียกกว่า Flexible Electronics
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยชาวไทยจากศูนย์วิจัยแห่งชาติและมหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยและสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง (Thailand Advanced Institute of Science and Technology, THAIST) ไปดูงานด้านเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ที่ไต้หวัน โดยหวังให้งานวิจัยด้านเซ็นเซอร์ในห้องแล็บ ถูกพัฒนาและต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ขายได้และนำไปใช้ได้จริง และเกิดเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน เรียกว่าแนวความคิด From Bench lab to Business
ดังนั้น ไต้หวันซึ่งเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมไอทีและคอมพิวเตอร์ ซึ่งรวมถึงด้านเซ็นเซอร์ จึงถูกเลือกเพื่อทำการศึกษา หนึ่งในสถานที่ที่เราไปเยือนคือ Industrial Technology Research Institute (ITRI) ศูนย์วิจัยแห่งชาติที่เน้นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม เช่น วิจัยในโจทย์ที่อุตสาหกรรมต้องการการแก้ปัญหา หรือวิจัยในเชิงนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดไปในอุตสาหกรรม
น่าสนใจเพราะงานวิจัยที่ ITRI กำลังดำเนินการในปัจจุบัน มีโอกาสที่จะนำมาใช้ในชีวิตของเราจริงๆ หนึ่งในนั้นคือ Flexible Electronics โดย ITRI ได้จัดตั้ง Flexible Electronic Pilot Lab ขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มุ่งเน้นการวิจัยที่เกี่ยวกับ Flexible Display หรือจอแสดงผลแบบโค้งงอได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมไอทีโดยเฉพาะด้านจอภาพแสดงผลของไต้หวันถือว่าเป็นผู้นำของโลกเลยทีเดียว จึงเชื่อว่าการวิจัยด้านนี้จะสามารถส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมการผลิตจอแสดงภาพที่มีอยู่แล้วของไต้หวัน และเป็นการยกระดับชีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมด้านนี้ของประเทศ
ปัจจุบัน ITRI ประสบความสำเร็จในการผลิตจอแสดงผลด้วยเทคโนโลยี AMOLED หรือ Active Matrix Organic Light Emitting Display ที่สว่างสดใสเหมือนจอภาพในโทรศัพท์มือถือของเรา แต่มันสามารถโค้งงอได้ด้วย นอกจากนี้ยังผลิตด้วยการพิมพ์แบบม้วนต่อม้วน (Roll-to-roll Printing) จึงทำให้ต้นทุนราคาถูกกว่า
แน่นอนว่า ITRI ไม่ได้วิจัยทั้งหมดคนเดียว แต่มีอุตสาหกรรมมาร่วมวิจัยด้วย โดยมีบริษัทระดับโลกมากมายมาร่วมทำงานกันแบบ Consortium ทำให้ผลงานวิจัยสอดคล้องกับสายการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และใช้เวลาในการถ่ายทอดไปสู่การผลิตจริงสั้นลง ทำให้มั่นใจว่างานวิจัยจะถูกนำไปผลิตเป็นสินค้าได้อย่างรวดเร็ว
ครั้งต่อมาติดตามกันต่อครับว่านอกจาก ITRI แล้ว บริษัทเอกชนของไต้หวันมีเคล็ดลับอย่างไรในการนำงานวิจัยมาสู่ธุรกิจระดับโลก
รายการอ้างอิง :
ดร.อดิสร เตือนตรานนท์. อิเล็กทรอนิกส์โค้งงอ. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 1 กันยายน 2556.– ( 88 Views)