ผู้เขียนมีโอกาสเข้ารับการอบรม เรื่อง ขีดเขียนงานวิทย์ ระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน พ.ศ. 2556 ซึ่งฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดขึ้น เพราะอยากรู้ว่า จะมีวิธีการเขียนทางด้านวิทยาศาสตร์ให้ได้ดี อย่างไร สำหรับคนไม่ได้จบมาทางสาขาวิทยาศาสตร์ แต่ต้องดูแลการเขียนบทความเพื่อเผยแพร่ข้อมูล และองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์
ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ วิทยากรท่านหนึ่งของหลักสูตรนี้ ได้แบ่งปันประสบการณ์ความเป็นนักเขียนของอาจารย์ ในหัวข้อ “การสื่อ (สาร) วิทยาศาสตร์ ด้วยงานเขียน” ความว่า การเขียนอย่างมีประสิทธิภาพนั้น หมายถึง เขียนอย่างถูกต้อง เขียนอย่างน่าอ่าน ซึ่งการเขียนอย่างถูกต้อง เป็นศาสตร์ ส่วนการเขียนอย่างน่าอ่านนั้น เป็นศิลป์ ต้องมีทั้งสองส่วนอยู่ด้วยกัน การเขียนอย่างถูกต้องนั้นเริ่มจากการเขียนคำ สะกดคำให้ถูกต้อง และควรใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นมาตรฐานสำหรับใช้ในการเขียนหนังสือไทย ปัจจุบัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยนสถาน เป็นฉบับปี พ.ศ. 2554
การจะเขียนหนังสือให้ถูกต้อง ต้องฝึก อ่านและเขียนให้ถูกต้อง ดร. นำชัย ได้ยกตัวอย่าง คำที่มักจะอ่านผิด และเขียน
ตัวอย่าง คำที่มักจะอ่านผิด
- กรกฎาคม (อ่านได้ 2 แบบ คือ กะ-ระ-กะ-ดา-คม หรือ กะ–รัก–กะ–ดา–คม)
- กรรมาธิการ (อ่านว่า กำ-มา-ทิ-กาน)
- คริสต์ศตรวรรษ (อ่านว่า คริดฺ–สะ–ตะ–วัด)
- โฆษณา (อ่านว่า โคด–สะ–นา)
- จันทรุปราคา (อ่านได้ 2 แบบ คือ จัน–ทฺรุ–ปะ–รา– คา, จัน–ทะ–รุบ–ปะ–รา–คา)
- ปรมาณู (อ่านได้ 2 แบบ คือ ปะ–ระ–มา–นู, ปอ–ระ–มา–นู)
- ศาสตราจารย์ (อ่านได้ 2 แบบ คือ สาด–ตฺรา–จาน, สาด–สะ–ตฺรา–จาน)
- ปรากฏการณ์ (อ่านได้ 2 แบบ คือ ปฺรา–กด–กาน, ปฺรา–กด–ตะ–กาน)
- มลพิษ (อ่านว่า มน–ละ–พิด)
- กลไก (อ่านว่า กน-ไก)
- กายภาพ (อ่านว่า กาย–ยะ–พาบ)
- สมการ (อ่านว่า สะ–มะ–กาน, สม–มะ–กาน)
- สมดุล (อ่านว่า สะ–มะ–ดุน, สม–ดุน)
- สารสนเทศ (อ่านว่า สา–ระ–สน–เทด, สาน–สน–เทด)
ตัวอย่าง คำที่มักจะเขียนผิด
- กิตติกรรมประกาศ หรือ กิติกรรมประกาศ (คำที่เขียนถูกต้อง คือ กิตติกรรมประกาศ)
- ทแยง หรือ ทะแยง (คำที่เขียนถูกต้อง คือ ทแยง)
- กล้องโทรทัศน์ หรือ กล้องโทรทรรศน์ (คำที่เขียนถูกต้อง คือ กล้องโทรทรรศน์)
- บาดทะยัก หรือ บาดทยัก (คำที่เขียนถูกต้อง คือ บาดทะยัก)
- เบรก หรือ เบรค (ที่แปลว่า เครื่องห้ามล้อ) (คำที่เขียนถูกต้อง คือ เบรก)
- ปฏิกิริยา หรือ ปฏิกริยา (คำที่เขียนถูกต้อง คือ ปฏิกิริยา)
- เปอร์เซนต์ หรือ เปอร์เซ็นต์ (คำที่เขียนถูกต้อง คือ เปอร์เซ็นต์)
- ภาพยนตร์ หรือ ภาพยนต์ (คำที่เขียนถูกต้อง คือ ภาพยนตร์)
- มาตราฐาน หรือ มาตรฐาน (คำที่เขียนถูกต้อง คือ มาตรฐาน)
- อิเล็กทรอนิคส์ หรือ อิเล็กทรอนิกส์ (คำที่เขียนถูกต้อง คือ อิเล็กทรอนิกส์)
การเขียนในภาษาไทย มักจะพบคำที่นำมาจากภาษาต่างประเทศ โดยใช้วิธีการบัญญัติศัพท์และการทับศัพท์ ซึ่งก็ควรใช้ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน ในการอ้างอิงให้เขียนอย่างถูกต้อง เช่น คำว่า
- X-rays เขียนทับศัพท์ เป็น รังสีเอกซ์ ไม่ใช่รังสีเอ็กซ์
- Tablet เขียนว่า แท็บเล็ต ไม่ใช่ แทบเลต
- World เขียนว่า เวิลด์ ไม่ใช่ เวิร์ลด์
รวมทั้งการเขียนที่ต้องคำนึงถึงอีกในเรื่อง การเขียนตัวย่อ หน่วยวิทยาศาสตร์ ชื่อสาขาย่อยด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น โดย วิทยากรได้แนะนำแหล่งอ้างอิงทั้งที่เป็นหนังสือและเว็บไซต์ เพื่อให้ใช้เป็นคู่มือในการอ่านและเขียนได้ถูกต้อง ได้แก่
- พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. … (ปัจจุบันปี 2554)
- อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
- ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน
- พจนานุกรม ศัพท์วิทยาศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ซึ่งหลักๆ ก็คือราชบัณฑิตยสถาน ดังนั้น ใช้เว็บของราชบัณฑิตยสถาน http://www.royin.go.th/th/home/index.php เป็นหลักในการตรวจสอบคำเพื่อให้อ่านและเขียนได้อย่างถูกต้อง