หลายคนอาจจะไม่คุ้นกับโรคทางไฟฟ้า ของหัวใจ แต่เชื่อแน่ว่าหลายคนคงคุ้นกับชื่อโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แล้วรู้หรือไม่ว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร ส่งผลร้ายแรงต่อหัวใจและชีวิตแค่ไหน หาคำตอบเรื่องของหัวใจเหล่านี้ได้จาก “ศ.นพ.ดร.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร” นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปีล่าสุดและเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไฟฟ้าของหัวใจรายแรก ของไทย
ศ.นพ.ดร.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร ประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าหัวใจเป็นอวัยวะที่มีการทำงานของไฟฟ้าเยอะมาก และเมื่อเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart Attrack) ผู้ป่วยมักเสียชีวิต โดยสาเหตุของการเสียชีวิตนั้นเกิดจากการเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรงของหัวใจ
การเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรงของหัวใจนั้นเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาด เลือดเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่ง ศ.นพ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า เส้นเลือดหัวใจที่มักพบการอุดตันบ่อยคือหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจห้องล่างซ้าย เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดไม่พอ ผิวกล้ามเนื้อหัวใจมักมีการเปลี่ยนแปลงทางไฟฟ้า สร้างไฟฟ้าขึ้นเอง ทำให้หัวใจเต้นอย่างผิดจังหวะ และบีบตัวไม่ได้ ทำให้หมดสติเพราะเลือดสูบฉีดไปสมองไม่ได้
“สมองเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบเร็วที่สุดเพราะเป็นส่วนที่ขาดเลือดไป เลี้ยงได้ในเวลาที่สั้นมาก เมื่อเลือดไม่ได้เลี้ยงสมองทำให้ผู้ป่วยหมดสติ และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงมักเสียชีวิตในเวลา 2-3 นาที อาการเดียวกันนี้ยังพบได้ในคนที่ถูกไฟฟ้าดูดรุนแรง ซึ่งผู้ถูกไฟฟ้าดูดไม่ได้เสียชีวิตเนื่องจากได้รับกระแสไฟฟ้าแต่เสียชีวิต เนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ศ.นพ.ดรนิพนธ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางไฟฟ้าของหัวใจกล่าวอีกว่า ทราบกันมาเป็นเวลา 100 ปีแล้วว่าเมื่อหัวใจหยุดเต้นหรือเต้นผิดจังหวะ จะต้องใช้ไฟฟ้าแรงสูงชาร์จกระตุ้นหัวใจ แต่ปัญหาคือเราไม่ทราบว่าหัวใจจะเต้นผิดจังหวะเมื่อไร จึงต้องฝังอุปกรณ์เครื่องช็อคหัวใจแบบอัตโนมัติในตัวผู้ป่วย เครื่องดังกล่าวจะวัดการเปลี่ยนแปลงไฟฟ้าในหัวใจ เมื่อพบความผิดปกติก็จะชาร์จไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ
นอกจากนี้ในการชาร์จหัวใจจากภายนอกด้วยไฟฟ้าแรงสูง แม้ผู้ป่วยจะฟื้นหรือรอดตายจากอาการหัวใจหยุดเต้น หัวใจก็ได้รับความเสียหายจากการกระตุ้น ศ.นพ.ดร.นิพนธ์จึงทำวิจัย เพื่อหาวิธีที่จะลดความแรงของไฟฟ้าที่ใช้ชาร์จหัวใจ หนึ่งในงานวิจัยที่กำลังศึกษาอยู่คือ การศึกษาผลจากยาบางชนิดต่อการลดความแรงไฟฟ้าในการชาร์จหัวใจ ซึ่งผู้ปวยโรคหัวใจมักมีโรคเบาหวานร่วมด้วย และพบว่ายาเบาหวานบางตัวสามารถลดความแรงไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจลงได้ 30% แต่ยาบางอย่างกลับไปเพิ่มความแรงในการกระตุ้นหัวใจได้ รวมถึงโอเมกา 3 และกระเทียมก็มีส่วนช่วยลดโอกาสการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ ซึ่งทั้งหมดกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา
สำหรับ ศ.นพ.ดร.นิพนธ์นั้นเพิ่งได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2555 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมกับ ศ.ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
รายการอ้งอิง :
รู้ไหมว่า…ทำไมหัวใจเต้นผิดจังหวะ?. ผู้จัดการออนไลน์ (วิทยาศาสตร์). วันที่ 2 สิงหาคม 2555.– ( 111 Views)