สำนักข่าวไทยนำเสนอข่าวเศรษฐกิจ
กรุงเทพฯ 12 ก.ย. 2556 – มีผู้สนใจโครงการ โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) เป็นจำนวนมาก โดยรัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน-11 ตุลาคม 2556 จำนวน 200 เมกะวัตต์ กำหนดขายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 31 ธ.ค.56 คาดคืนทุนช่วง 6-8 ปี
สำนักงานคณะกรรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ร่วมมือกับ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานเสวนาสร้างความรู้ Solar PV Rooftop โดยนายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการ กกพ.กล่าวว่า จะมีผู้สนใจเดินทางมายื่นคำขอขายไฟฟ้ากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเกินกว่าจำนวนเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านที่สนับสนุน เช่น นโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีความชัดเจน โดยใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนจริง หรือ Feed-in Tariff (FiT) โดยแบ่งเป็น
กลุ่มบ้านอยู่อาศัย รับซื้อในอัตรา6.96 บาทต่อหน่วย กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดเล็ก รับซื้อในอัตรา 6.55 บาทต่อหน่วย และกลุ่มอาคารธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ รับซื้อในอัตรา 6.16 บาทต่อหน่วย และมีระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี นับจากกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Scheduled Commercial Operation Date : SCOD) รวมทั้งภูมิอากาศของประเทศไทยมีความเข้มข้น ของแสงอาทิตย์ที่เพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า
สำหรับต้นทุนผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาทต่อการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 1 กิโลวัตต์ ซึ่งจะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 1,300 หน่วยต่อปี และจะสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยประมาณ 8,000-9,000 บาทต่อปีและจุดคุ้มทุนจะอยู่ประมาณ 6-7 ปี มีอายุของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าครอบคลุมถึง 25 ปี จึงเป็นความคุ้มค่าทั้งในด้านราคา และด้านการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เพราะราคาไฟฟ้าที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.75 บาทต่อหน่วย แต่ขณะเดียวกันผู้ที่ติดตั้ง Solar PV Rooftop
ในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย สามารถขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้ในราคา 6.96 บาทต่อหน่วย กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดเล็กราคา 6.55 บาทต่อหน่วย และกลุ่มอาคารธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ราคา 6.16 บาทต่อหน่วย
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท. -
http://www.mcot.net/site/content?id=52314761150ba02d600001e4#.UjFPGj_xbGg– ( 103 Views)