magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home NSTDA 10 เทคโนโลยีน่าจับตา 2556
formats

10 เทคโนโลยีน่าจับตา 2556

สวทช.นำเสนอ 10 เทคโนโลยีน่าจับตาในอีกทศวรรษหลังจากนี้ในเวที NSTDA Innvestors’Day 2013 จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการดำรงชีวิต

สวทช.นำเสนอ 10 เทคโนโลยีน่าจับตาในอีกทศวรรษหลังจากนี้ในเวที NSTDA Innvestors’Day 2013 ว่าหลังจากนี้นักวิจัยจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันเพื่อเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า เทคโนโลยีที่ต้องจับตาเบอร์หนึ่งคือ อุปกรณ์ตรวจวินิจฉัยแบบพกพา (Mobile Diagnostic Tools) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยโรคและให้คำแนะนำในการรักษา ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่มีสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์แท็บเล็ตในมือ

เทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้เกิดการพัฒนาเซ็นเซอร์หรือระบบตรวจร่างกายที่มีความอัจฉริยะมากขึ้นกว่าเดิม อาทิ อุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณน้ำตาล ไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน หรือเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่ช่วยให้แพทย์วิเคราะห์โรคในช่องปากหรือโรคตาโดยไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ด้วยตัวเอง

เทคโนโลยีต่อมาเป็นการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคโดยอาศัยนาโนเทคโนโลยี (Nanotheranostics) ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีนำส่งยาภายในร่างกาย เพื่อรักษาโรคแบบตรงเป้าหมายอย่างโรคมะเร็ง รวมถึงเทคนิคการตรวจวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพระดับโมเลกุลภายในร่างกายด้วยตัวตรวจจับเซลล์เป้าหมายควบคู่กับการรักษา สำหรับลดผลข้างเคียงของยา เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้แม่นยำยิ่งขึ้น

สำหรับเทคโนโลยีด้านงานพิมพ์ เครื่องพิมพ์ชีวภาพ 3 มิติ (3D Bioprinting) คืออีกเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยนำมาประยุกต์ใช้กับหมึกพิมพ์ชีวภาพ ซึ่งมาจากสเต็มเซลล์ร่วมกับโปรตีนเร่งการเจริญเติบโตและสารเชื่อมโยงที่เป็นไฮโดรเจล เช่น ไฟบริน คอลลาเจน เจลาติน หรือสารอื่นๆ ที่ทำให้เซลล์เติบโตได้ดี

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวต่อว่า นวัตกรรมดังกล่าวจะทำให้อนาคตวงการแพทย์มีอวัยวะเทียม หรือโมเดลเพื่องานวิจัยและทดลองที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ ซึ่งจะลดเวลาการศึกษาวิจัยในมนุษย์จริงๆลงได้ เช่น การทดลองสร้างเนื้อเยื่อผิวหนังและอวัยวะที่ซับซ้อนไม่มาก เช่น หลอดเลือด ใบหู กะโหลก และกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

เทคโนโลยี V2V (Vehicle to Vehicle Communication) หรือระบบรถอัจฉริยะเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุ การส่งข้อมูลจราจร ข้อมูลที่จอดรถ การวางแผนการเดินทาง เป็นอีกนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ในช่วง 10 ปีนับจากนี้ อาทิ เทคโนโลยี M2M (Machine to Machine) การสื่อสารระหว่างรถยนต์ด้วยกัน เพื่อการหยุดรถหรือเบรคได้เอง รวมถึงการสื่อสารกับโครงสร้างพื้นฐาน M2I (Machine to Infrastructure) เช่น การสื่อสารระหว่างรถยนต์กับสัญญาณไฟจราจร การแจ้งเตือนอุบัติเหตุหรือสภาพการจราจรจากระบบต่างๆที่ตั้งอยู่บนถนนเส้นทางนั้นๆ เพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์ปลอดภัยและบริหารเวลาได้อย่างคุ้มค่า

เทคโนโลยีแบตเตอร์รี่เพื่อการลดใช้พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) อีกไม่นานจะเกิดแบตเตอร์รี่ประสิทธิภาพสูงที่รองรับรถยนต์ประหยัดพลังงาน (EV) ขึ้น เพื่อทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงน้ำมัน โดยมีคุณสมบัติชาร์ตเร็วพอๆกับการเติมน้ำมัน ทำให้รถประหยัดพลังงานวิ่งได้เร็วขึ้นกว่าเดิมในราคาไม่แพง

ระบบคำนวณเชิงสังคม (Social Computing) ด้วยข้อมูลจากสื่อออนไลน์ อาทิ เฟซบุค ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ที่จะช่วยให้การวางแผนกระตุ้นการซื้อขายสินค้าและบริการสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติเองมีงานวิจัยที่ชื่อ เอสเซนส์ (S-Sense) สำหรับวิเคราะห์ความคิดเห็นบุคคลทั่วไป หรือกลุ่มลูกค้าบนโซเชียลมีเดีย ที่มีต่อผลิตภัณฑ์และบริการซึ่งทำให้ภาคธุรกิจที่จะลงทุนสามารถรู้ทันตลาดโดยที่ไม่ต้องเดินสำรวจด้วยตัวเอง

การปรับปรุงการเพาะปลูกในอนาคต (Future Crop Improvement) ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นอีกเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมเกษตรกรรมของไทย ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงพันธุ์พืชทำได้ง่ายในเวลาอันรวดเร็วและแม่นยำในห้องปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็นการทนร้อน ทนแล้ง ทนเค็ม ทนโรคหรือแมลง เป็นต้น

วัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ (Metal Organic Frameworks) หรือวัสดุลูกผสมจากโลหะและสารอินทรีย์ ซึ่งขึ้นรูปเป็นทรงไหนอะไรก็ได้และมีสมบัติหลายอย่างจะเกิดขึ้นแน่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานในด้านวัสดุศาสตร์ จากคุณสมบัติ อาทิ การมีพื้นที่ผิวมาก มีความพรุนสูง มีความหนาแน่นต่ำ และทนอุณหภูมิที่สูงมากๆ เช่น 400 องศาเซลเซียส เพื่อให้ธุรกิจเครื่องกรองน้ำ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องซักผ้าที่ฆ่าเชื้อโรคได้ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อีกเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นถัดมาเป็น เทคโนโลยีวัสดุซ่อมแซมตัวเองได้อัตโนมัติ (Self-healing Meterials) ซึ่งอาศัยการกระตุ้นบางอย่าง เช่น ความร้อน แสง ความดัน หรือ ความเป็นกรดด่าง เพื่อให้ผิวของวัสดุที่เกิดริ้วรอยกลับมามีสภาพคงเดิม ตัวอย่างเช่น บริษัทนิสสัน ที่มีเทคโนโลยีสารเคลือบป้องกันรอยขีดข่วนสำหรับรถยนต์รุ่น Murano X-Trail และ Infiniti รวมถึงรถสปอร์ตรุ่น 370Z หรือ กรอบสมาร์ทโฟนอย่าง iphone4/4s ที่สารเคลือบตระกูลนี้ช่วยป้องกันรอยขีดข่วนและซ่อมแซมรอยขีดข่วนได้ด้วย
เทคโนโลยีภาพถ่ายที่เชื่อมต่อกับข้อมูลที่อยู่ตรงหน้าให้เป็นวัตถุเสมือน (Augmented Reality) เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การเดินทางไปในจุดที่ไม่เคยไปมีความง่าย เช่นการเดินทางไปต่างประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะรูปภาพที่ถ่ายจะแสดงข้อมูล เช่น พิกัด คำแนะนำสถานที่ที่อยู่ตรงหน้า ด้วยการแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาที่ผู้ใช้ต้องการ ให้เข้าใจสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัว เพียงนำสมาร์ทโฟนไปถ่ายภาพวัตถุหรือวิวที่ต้องการรู้ข้อมูล จากนั้นโปรแกรมจะดึงข้อมูลพื้นฐานที่อยู่ในระบบออกมาอธิบายให้เข้าใจในสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

“ภาคอุตสาหกรรมต้องจับตาดู 10 เทคโนโลยีดังกล่าวให้ดี โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี ยิ่งควรศึกษาให้เข้าใจถึงโอกาสการนำไปใช้ เพราะหากคุณไม่ติดตามอนาคตธุรกิจอาจจะเดินหน้าแบบไร้ความไฮเทคก็ได้”ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าว

กานต์ดา บุญเถื่อน. 10 เทคโนโลยีน่าจับตา 2556. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 16 กันยายน 2556.– ( 143 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


+ 8 = eleven

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>