สำนักข่าวไทยนำเสนอข่าวสังคม
กรุงเทพฯ 15 ก.ย. 2556 – ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในไทยมีกว่า 600,000 คน อนาคตเสี่ยงเพิ่มต่อเนื่อง เมื่อเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุ แนะญาติ-คนใกล้ชิดดูแล
นพ.บุญชัย พิพัฒน์วนิชกุล ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดกิจกรรมวันอัลไซเมอร์โลก “ดูแลอย่างไรกับผู้สูงวัยสมองเสื่อม” ภายในสวนลุมพินี ในงานมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเสวนาถาม-ตอบเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ การคัดกรอง ตรวจเลือดผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม การให้คำปรึกษาโรคเกี่ยวกับสมองจาก สถาบันประสาทวิทยา โดยมีประชาชนที่มาใช้บริการภายในสวนลุมพินีเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
นพ.บุญชัย กล่าวว่า สถานการณ์โรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยขณะนี้ ตัวเลขของผู้ป่วยด้วยโรคนี้อยู่ที่ประมาณ 600,000 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ 60ปีขึ้นไป พบร้อยละ 10 และหากอายุ 80 ปีขึ้นไป โอกาสพบสูงถึงร้อยละ 50 ปัจจุบันประชากรผู้สูงอายุของไทยอยู่ที่ร้อยละ 12.7 ของประชากรทั้งหมด แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น ร้อยละ 18-20 ทำให้มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้มาจากความเสื่อมของสมองเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากโรคที่เกี่ยวกับสมอง เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง หรืออุบัติเหตุที่ทำให้สมองกระทบกระเทือน เป็นต้น สิ่งสำคัญญาติหรือบุคคลในครอบครัวต้องหมั่นคอยสังเกตพฤติกรรมผู้สูงอายุในครอบครัว เมื่อพบว่าเริ่มจำสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ได้ หรือเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อจะได้รักษาให้หาย โรคนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างสูง ค่ายาบวกกับค่าดูแลเฉลี่ยเดือนละ 25,000 -30,000 บาท และหากรายใดเป็นขั้นรุนแรงก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นไปอีก ซึ่งค่ายาผู้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพเบิกค่ายา ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ดังนั้น ญาติหรือคนใกล้ชิดต้องหมั่นดูแล และต้องใจเย็นกับผู้สูงอายุ จึงจะช่วยลดอัตราการเกิดขึ้นของโรคนี้.
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท. -
http://www.mcot.net/site/content?id=52356e16150ba038120000bb#.UjZjcz_xbGg– ( 176 Views)