magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก บทเรียนจากไต้หวัน
formats

บทเรียนจากไต้หวัน

เรามาดูกันว่า บริษัทเอกชนของไต้หวันมีเคล็ดลับอย่างไรในการนำงานวิจัยมาสู่ธุรกิจระดับโลก

ประเทศไต้หวันมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 38 ของโลก เมื่อใช้เกณฑ์ Gross Domestic Product หรือ GDP ต่อหัว (ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 92 : ข้อมูลจาก IMF ปี 2555) และมีอัตราการเติบโตของจีดีพีเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 8 ต่อปี

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจของไต้หวันพึ่งพาภาคเกษตรกรรมเพียงร้อยละ 3 ของจีดีพี ลดลงจากร้อยละ 35 เมื่อ 60 ปีก่อนหน้า แต่พึ่งพาภาคบริการถึงร้อยละ 73 ของจีดีพี โดยที่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานได้ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านั้นก็รวมทั้งประเทศไทยอยู่ด้วย
อุตสาหกรรมในประเทศไต้หวันส่วนใหญ่ จึงเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีก้าวหน้า ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ประเทศไต้หวันเป็นผู้เล่นในห่วงโซ่เศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นผู้นำในเวทีโลกก็คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในสองอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ประเทศไต้หวันเติบโตอย่างรวดเร็วจากนโยบาย 10 เมกะโปรเจ็กต์ที่เริ่มต้นและดำเนินการระหว่างปี 2513 ซึ่งได้แก่ การลงทุนสร้างสนามบินใหม่ โครงการรถไฟฟ้า โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึก เพื่อขนส่งสินค้าใหม่หลายแห่ง เช่น ที่เมือง Taichung เมือง Su-on และเมือง Kaohsiung มีการสร้างโรงงานผลิตเหล็กกล้า โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และอุทยานวิทยาศาสตร์และนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัยหลายแห่ง

และแน่นอนว่า ITRI ก็เป็นสถาบันวิจัยที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมไฮเทคของประเทศไต้หวันที่เกิดขึ้นในยุคนั้น และสร้างขึ้นในอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Hsinchu Industrial Park โดยที่เริ่มต้นจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิปไมโครอิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐอเมริกามาผลิตในประเทศ โดยมี ITRI เป็นผู้วิจัยและผลักดันจนกลายเป็นบริษัท TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปไมโครอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน ต่อมาก็มีอุตสาหกรรมไอทีต่อเนื่องมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ชิปหน่วยความจำ จอภาพคอมพิวเตอร์ และรวมถึงเซ็นเซอร์ด้วย

ดังนั้น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ในไต้หวันจึงไม่ใช่แค่เพียงงานวิจัย แต่เป็นอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่การเป็นผู้นำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น เซ็นเซอร์ทางเคมี หรือเซ็นเซอร์ทางชีวภาพ ตัวอย่างบริษัทเซ็นเซอร์ที่ spin-off ออกมาจาก ITRI ที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมดูงาน ได้แก่ Agnitio ผู้ผลิตเซ็นเซอร์วัดการเป็นภูมิแพ้ด้วยเทคโนโลยี Lab-on-a-Chip บริษัท Bioptik ผู้ผลิตเครื่องตรวจวัดปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือด บริษัท Phalanx ผู้ผลิตแผ่นตรวจโรคด้วยไมโครอาร์เรย์ และบริษัท General Biological ผู้ผลิตชุดตรวจวินิจฉัยโรค

จากที่ดูงานพบว่า บริษัทเหล่านี้มุ่งกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่ทั่วโลก โดยที่เน้นการพัฒนาสินค้าที่ได้รับการยอมรับว่าได้มาตรฐานและแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยที่ไม่ได้พึ่งพาตลาดในประเทศเท่าไรนัก ซึ่งแตกต่างจากแนวความคิดที่ผมมักเจอเมื่อคุยกับผู้ประกอบการของไทยที่มุ่งเน้นเจาะตลาดในประเทศก่อน ดังนั้นถ้าเราจะอยู่รอดในธุรกิจนี้ เราต้องชกเวทีระดับโลกเท่านั้น

รายการอ้างอิง : ดร.อดิสร เตือนตรานนท์. บทเรียนจากไต้หวัน. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). วันที่ 15 กันยายน 2556.– ( 106 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


× seven = 49

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>