magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก บอกเล่าเรื่อง “นม”
formats

บอกเล่าเรื่อง “นม”

นม เครื่องดื่มมากคุณค่าและพลังงานเหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัยทั่วโลก รู้หรือไม่ว่ากว่าจะได้นมรสชาติอร่อยนุ่มชุ่มลิ้นและให้คุณค่าทั้งพลังงานและสุดยอดแคลเซียม หรือกว่านมจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เนย ชีส โยเกิร์ต ที่หลายๆ คนได้ลิ้มลองและติดในใจรสชาติ ทั้งหอมหวานและมันข้นไปด้วยนมนั้น นอกจากคุณประโยชน์ที่ได้จากการดื่มนมแล้ว “นม” มีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว

เริ่มจากในฐานะที่เราเป็นคนไทยเริ่มจากกิจการการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยนั้นเริ่มมีการเลี้ยงโคนมมาตั้งแต่ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หากแต่ว่าคนที่เลี้ยงโคนมนั้นกลับไม่ใช่คนไทยแต่เป็นคนอินเดียที่เลี้ยงโคนมเพื่อขายน้ำนมให้คนอินเดียที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยและพอมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นนำโคพันธุ์ขาว-ดำ จากสิงค์โปร์เข้ามาเลี้ยงเพื่อเป็นเสบียง โคพันธุ์นี้ให้น้ำนมมากกว่าโคอินเดีย จึงมีการนำเข้าโคพันธุ์ขาว-ดำ จากต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปมาผสมพันธุ์กับโคอินเดียเพื่อให้น้ำนมในปริมาณมากกว่าอีกทั้งโคพันธุ์นี้ก็แสนจะน่ารักเพราะเลี้ยงง่ายและมีความอดทนสูงมากทีเดียว

รู้จักกับ “วัว หรือ โคนม”
วัว เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีกระเพาะอาหาร 4 กระเพาะ ได้แก่

  1. รูเมน (Rumen) หรือ ผ้าขี้ริ้ว
  2. เรติคิวลัม (Reticulum) หรือ รังผึ้ง
  3. โอมาซัม (Omasum) หรือ สามสิบกลีบ
  4. แอบโอมาซัม (Abomasum) หรือ กระเพาะจริง

ภาพประกอบจาก http://www.vcharkarn.com/vcafe/82736

ทั้ง 4 กระเพาะ ส่วนที่เป็นกระเพาะจริงมีเพียงส่วนเดียวเท่านั้นคือ แอบโอมาซัม ส่วนที่เหลืออีก 3 ส่วนไม่ใช่กระเพาะแต่เป็นหลอดอาหารที่ขยายขนาดขึ้นเพื่อรองรับอาหารและ 3 ส่วนนี้ก็ไม่มีการสร้างเอนไซม์

รู้จักคุณลักษณะของ นม และ คุณประโยชน์จากนม กันต่อ นม MILK มี 3 ประเภท ได้แก่

  1. นมยูเอชที (Ultra High Temperature: UHT) นม UHT คือนมวัวสดที่ผ่านขบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงถึง 140 องศาเซลเซียส เพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์ในนมสดทั้งหมด แล้วจึงบรรจุในกล่อง นมประเภทนี้มีอายุการเก็บนาน 6 เดือน
  2. นมสเตอริไรส์ คือนมวัวสดที่ผ่านขบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงที่ 115-120 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20-30 นาที นมชนิดนี้เก็บได้นาน 6 เดือนโดยไม่ต้องแช่เย็น เพราะเชื้อจุดลินทรีย์ถูกทำลายหมดด้วยความร้อนของระบบสเตอริไลซ์ โดยที่ไม่ทำให้คุณภาพของน้ำนมเปลี่ยนแปลงมากนัก
  3. นมพาสเจอร์ไรส์ คือนมวัวสดที่ผ่านขบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนที่ไม่สูงมากนักที่ประมาณ 75 องศาเซลเซียส เพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์เฉพาะที่ทำให้เกิดโรค แต่ยังคงความสดใหม่และประโยชน์ไว้อย่างครบครัน แต่อายุการเก็บรักษานั้นจะสั้นกว่านมในประเภทอื่นๆ คือ สามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน 14 วัน

สารอาหารในนม
ในนมมีแคลเซียมชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถนำมาใช้เสริมสร้างกระดูก ปกติแล้วกระดูกจะเป็นแหล่งเก็บแคลเซียมให้อวัยวะต่างๆ นำไปใช้ในการทำงาน กระดูกจึงมีความต้องการแคลเซียมค่อนข้างมากเพื่อชดเชยส่วนที่ใช้ไปในการส่งต่อแคลเซียมให้กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกานอยู่ตลอดเวลา นอกจากแคลเซียมที่มีมากแล้ว ในน้ำนมมีวิตมินอยู่อีกหลายชนิดทีเดียว อาทิ วิตมิน P, D, A, B1, B2 และ B12

ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้จากน้ำนม

  • น้ำนมผ่านการคัดแยกโปรตีน น้ำนมจะมีความข้นแข็ง จากการคัดแยกโปรตีนนี้จะได้นมที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต “ชีส และ หางนม”
  • น้ำนมผ่านการสกัดไขมัน สิ่งที่ได้คือ “ครีมนม” ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต “เนย นมเปรี้ยว วิปครีม หรือครีมชีส”
  • น้ำนมผ่านการหมักด้วยแบคทีเรียโพรไบโอติก เมื่อผ่านการหมักในอุณหภูมิและวันที่เหมาะสมก็จะได้ “โยเกิร์ต” รสธรรมชาติ

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดื่มนม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด คือ หลังอาหารเช้า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการดื่มนมเพราะร่างกายจะนำคุณค่าทางอาหารหรือพลังงานไปใช้งานได้ในทันที และเมื่อดื่มนมแล้วเราควรจะออกกำลังกายเบาๆ เช่นการเดินอาบแสงแดดยามเช้าซึ่งแสงแดดในยามเช้ามีวิตามินที่ดีที่ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดี ทำให้ได้รับประโยชน์จากการดื่มนมได้อย่างเต็มที่ และการดื่มน้ำนั้นควรดื่มให้ได้อย่างน้อยวันละ 2 แก้ว หากทำได้เช่นนี้ร่างกายจะได้รับแคลเซียมถึง 500-600 มก.

ร่างกายของคนในแต่ละช่วงวัยมีความต้องการปริมาณแคลเซียมต่อวันต่างกัน ดังนี้

  • เด็ก ต้องการแคลเซียมต่อวันในปริมาณ 600 มก.
  • วัยรุ่น ต้องการแคลเซียมต่อวันในปริมาณ 1,000 – 1,500 มก.
  • วัยทำงาน ต้องการแคลเซียมต่อวันในปริมาณ 800 – 1,000 มก.
  • สตรีมีครรภ์ ต้องการแคลเซียมต่อวันในปริมาณ 1,500 มก.
  • คนชรา ต้องการแคลเซียมต่อวันในปริมาณ 1,500 – 2,000 มก.

หากบางคนดื่มนมแล้วมีอาการท้องอืด หรือ ท้องเสีย อาจจะเกิดจากร่างกายมีน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตสซึ่งมีอยู่ในนมลดลงมากเมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป จึงไม่เพียงพอที่จะไปย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม ดังนั้นควรจะเริ่มดื่มนมในปริมาณน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณเพื่อให้ร่างกายปรับสภาพ และการเริ่มต้นดื่มนมสำหรับคนที่มีอาการท้องอืด ท้องเสีย ควรเริ่มดื่มนมหลังมื้ออาหารไม่ควรดื่มในขณะที่ท้องว่าง

ผลการสำรวจการดื่มนมของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2554 พบว่า

  • ทั่วโลก ดื่มนมเฉลีย 103.9 ลิตร/คน/ปี
  • ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดื่มนมเฉลี่ย 60 ลิตร/คน/ปี
  • คนไทย ดื่มนมเฉลี่ย 14 ลิตร/คน/ปี (แต่เชื่อหรือไม่ว่า ดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยถึง 52 ลิตร/คน/ปี)

รู้จักกับ “นม” กันพอสมควรแล้ว ฉะนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีอย่าลืม “ดื่มนมทุกวัน เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรง” การเลือกดื่มนมเพื่อสุขภาพนั้น จะต้องเลือกประเภทของนมให้เหมาะกับความต้องการของร่างกายด้วย สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดื่มนมที่ถูกวิธี โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่กินยาติดต่อกันตลอดหลายปี (หรือตลอดชีวิต) ยาหลายๆ ตัวอาจจะมีผลต่อมวลกระดูก การเลือกดื่มนมเพื่อเสริมสร้างแคลเซียมให้กระดูกมีความแข็งแรง อาจจะต้องเลือกเครื่องดื่มที่มีรสชาติที่หวานน้อย เพื่อจะได้ไม่เป็นการเพิ่มน้ำตาลให้กับร่างกาย

แหล่งที่มาของข้อมูล

ศรินทร เอี่ยมแฟง. “the story : Moo Moo MILK & ME สุขภาพดีดื่มได้”. Plook. 33 : 16-18 ; กันยายน 2556.
อยากทราบข้อมูลของการย่อยอาหารของวัว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้ที่ http://www.vcharkarn.com/vcafe/82736. (วันที่ค้นข้อมูล 25 กันยายน 2556).
“นมพาสเจอร์ไรซ์”กับ”นมสเตอริไลซ์” ต่างกันอย่างไร?. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้ที่ http://www.u-basketball.com/board/index.php?topic=1551.0. (วันที่ค้นข้อมูล 25 กันยายน 2556).– ( 392 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


nine − = 8

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>