เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ผศ.ดร.ดลรวี ลีลารุ่งระยับ อาจารย์นักวิจัยจากภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันมีประชากรไทยเป็นจำนวนมากที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะในเพศชาย วัยทำงานและสูงอายุ ซึ่งที่ผ่านมีผู้ป่วยจำนวนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อันเนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นเวลานานๆ ในสภาพปัจจุบัน เยาวชนและสตรีได้หันมาสูบบุหรี่กันมากขึ้น ถึงแม้ผู้สูบบุหรี่จะทราบถึงพิษภัยและอันตรายอันอาจจะเกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถเลิกการสูบบุหรี่ได้ แนวทางการเลิกบุหรี่ในปัจจุบันมีหลายวิธี ได้แก่ การบำบัดทางจิต การใช้ยานิโคตินทดแทน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ที่ผ่านมาร้อยละของการเลิกบุหรี่ประมาณ 60 แต่ก็มีหลายรายที่หันกลับมาสูบบุหรี่ อันเนื่องจากปัญหาด้านอื่นๆ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายของตัวยาที่มีราคาแพงมาก
สมุนไพรเลิกบุหรี่จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ประชาชนหรือกลุ่มแพทย์บางกลุ่มได้เริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น สมุนไพรหญ้าดอกขาวหรือหญ้าหมอน้อย เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการบันทึกในสมุนไพรแผนโบราณ ว่าสามารถช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งได้มีการวิจัยทางคลินิกได้นำสมุนไพรทั้งต้นมาใช้ในการเลิกบุหรี่ในรูปแบบของชาชง และมีงานวิจัยที่ได้ศึกษาพบว่าในสมุนไพรชนิดนี้ที่ผ่านการสกัดด้วยตัวทำลายเอธานอลมีสารที่ช่วยต้านการอักเสบในสัตว์ทดลอง และยังมีสารประกอบอื่นๆ ที่น่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกับการนำสมุนไพรนี้มาใช้ในกลุ่มคนเลิกบุหรี่ นิยมใช้แบบการผสมในน้ำร้อนเหมือนการเติมชาชง ซึ่งสารออกฤทธิ์ยังไม่ได้มีการศึกษามาก่อน จากนั้นทางทีมวิจัยก็ได้ของบสนับสนุนการวิจัยจาก สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ
เมื่อทำการศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของสมุนไพรหญ้าหมอน้อยร่วมกับการออกกำลังกายในการช่วยเลิกบุหรี่ในกลุ่มคนในเขตตำบลหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าในกลุ่มที่ใช้สมุนไพรหญ้าหมอน้อยเคี่ยวร่วมกับการออกกำลังกาย สามารถเลิกบุหรี่ได้ร้อยละ 70 ในขณะเดียวกันผลการตรวจเลือดในกลุ่มคนสูบบุหรี่ที่ใช้สมุนไพรหญ้าหมอน้อยมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ปริมาณของออกซิเดทีฟสเตรสลดลง ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ในลมหายใจลดลง รวมไปถึงสมรรถภาพปอดและสมรรถนะทางกายดีขึ้น ดังนั้นสมุนไพรหญ้าหมอน้อยเคี่ยว น่าจะเป็นรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้กลุ่มผู้สูบบุหรี่สามารถลดและเลิกการสูบบุหรี่ได้ และจากงานศึกษาต่อยอด พบว่าในสมุนไพรหญ้าหมอน้อยมีสารบางอย่างที่มีองค์ประกอบในการต้านอนุมูลอิสระ และสารที่ช่วยทำให้ลิ้นฝาด และอาจมีสารนิโคตินในปริมาณต่ำๆ ซึ่งเป็นการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น
ผศ.ดร.ดลรวี กล่าวว่า การศึกษาหญ้าหมอน้อย จะนำต้นหญ้าหมอน้อยมาทำการล้างอย่างสะอาด และแยกส่วนประกอบต่างๆ คือ ดอก ก้าน และ ใบ แล้วนำไปอบให้แห้งจนมีความชื้นเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นนำไปบดเป็นผงหยาบ แล้วนำมาผสมน้ำจากนั้นนำไปเคี่ยวจนมีความเข้มข้นขึ้นแล้วนำไปทำให้เป็นผง เมื่อได้ผงสารสกัดแห้งมาแล้ว จะนำไปวิเคราะห์หาสารองค์ประกอบสำคัญ เมื่อทราบสารองค์ประกอบสำคัญที่อยู่ในสารสกัดใบ ก้าน หรือดอก แล้วนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของลูกอม ซึ่งจะทำให้ทราบปริมาณของสารออกฤทธิ์ที่แน่นอนซึ่งบรรจุอยู่ในแกนกลางของเม็ดลูกอม และพร้อมจะนำไปศึกษาประสิทธิภาพของลูกอมหญ้าหมอน้อยในการช่วยเลิกบุหรี่ในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ต่อไป
สำหรับประโยชน์ของการศึกษาครั้งนี้นอกจากจะทำให้ทราบสาระสำคัญที่มีมาตรฐานตามหลักวิชาการเพื่อจะได้นำมาอธิบายกลไกในการช่วยเลิกบุหรี่ได้แล้ว จะได้ผลิตภัณฑ์ลูกอมสมุนไพรหญ้าหมอน้อยต้นแบบ ที่จะสามารถนำไปช่วยในการเลิกบุหรี่ และอาจจะนำไปสู่กระบวนทางอุตสาหกรรมต่อไปได้ในอนาคต นอกจากนี้คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้ร่วมกับ สวทช.ภาคเหนือ จัดโครงการบริการวิชาการชุมชนและสังคม “การเลิกบุหรี่ด้วยสมุนไพรหญ้าหมอน้อย” โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.nn.nstda.or.th หรือโทร. 053-226-264
รายการอ้างอิง :
มช.คิดค้น “ลูกอมสมุนไพรหญ้าหมอน้อย” ช่วยเลิกบุหรี่. เดลินิวส์ (ข่าวทั่วไทย). วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556.
– ( 1895 Views)