magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก เกาะติด ‘พีรพันธุ์ พาลุสุข’ศึกษาเยอรมนี-สวิสใช้เทคโนโลยีเพิ่มรายได้ (1)
formats

เกาะติด ‘พีรพันธุ์ พาลุสุข’ศึกษาเยอรมนี-สวิสใช้เทคโนโลยีเพิ่มรายได้ (1)

รัฐบาลมีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะนำองค์ความรู้ด้าน “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” มา  “เพิ่มมูลค่า” สินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อทำให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี

เมื่อใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ การเดินทางของ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และคณะผู้บริหารศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อไปร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีรับมอบ “ใบรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบพลาสติกชีวภาพ” หรือ Certification of Approved Laboratory ของเอ็มเทค สวทช. จากสถาบันดิน เซิร์ทโก (Din Certco) ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อต้นเดือนกันยายน 2556 จึงเท่ากับเป็นการต่อยอดเป้าหมายดังกล่าว “ดิน เซิร์ทโก” คือ หน่วยงานให้การรับรองผลิตภัณฑ์และความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบ ติดอันดับต้นๆ ของโลก ล่าสุด เอ็มเทค สวทช. ได้ผ่านการประเมินรับรองให้เป็นห้องปฏิบัติการมาตรฐานในระบบ ISO17025 จากสถาบันดินฯ ครอบคลุมการทดสอบมาตรฐาน EN13432 และ ASTM D6400 ซึ่งหมายถึงการทดสอบการย่อยสลายพลาสติกชีวภาพ โดยมีห้องปฏิบัติการของเอ็มเทคเป็นห้องปฏิบัติการหลัก และห้องปฏิบัติการจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมเป็นเครือข่าย นับเป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่ มีใบรับรองดังกล่าว

นายพีรพันธุ์บอกว่า นับเป็น “ก้าวย่าง”ที่สำคัญของประเทศไทย ในการใช้ “พืชอาหาร” เป็นวัตถุดิบผลิตพลาสติกที่ย่อยสลายได้ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า พลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก (Bioplastic) เพราะปัจจุบันทั่วโลกได้หันมาให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพราะเริ่มตระหนักถึงการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้แนวโน้มการเติบโตของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในตลาดโลกขยายตัวมากกว่า ร้อยละ 30 กระนั้นกำลังการผลิต

ในปัจจุบันยังมีเพียง 360,000 ตัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเพียงร้อยละ 1 ของปริมาณพลาสติกที่ใช้กันอยู่ทั่วไป

“ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ด้านผลผลิตทางการเกษตร มีศักยภาพทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ที่ประเทศไทยสามารถผลิตหัวมันสดได้มากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก และส่งออกมาเป็นอันดับที่ 1 ของโลก โดยมีกำลังการผลิตหัวมันสดได้ประมาณ 27 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าที่ได้ในปัจจุบันประมาณ 61,000 ล้านบาท หากลองมาคิดดูเล่นๆ ว่า มีการนำมันสำปะหลังเหล่านี้ มาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ จะดีแค่ไหน เพราะผลผลิตเหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากถึง 10 เท่า” นายพีรพันธุ์กล่าว ขณะที่หนึ่งในผู้ที่ร่วมเดินทางไปกับคณะอย่าง นายวีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ กล่าว

เสริมว่า ใบรับรองนี้จะทำให้นานาชาติเห็นถึงความเอาใจใส่และความตั้งใจปฏิบัติ งานอย่างเป็นรูปธรรมที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสร้างขีดความสามารถในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ที่ใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ ให้เกิดประโยชน์และมีมูลค่าเพิ่ม

“ปัจจุบันห้องปฏิบัติของเอ็มเทคเปิดให้บริการแล้ว โดยรายงานผลการทดสอบนี้สามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาติดตราสัญลักษณ์ มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสมาคมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) รวมถึงตราสัญลักษณ์ของสถาบันดินฯ ด้วย” นายวีระศักดิ์กล่าว ด้านนายพิพัฒน์ วีระถาวร นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย กล่าวถึงทิศทางของเทคโนโลยีชีวภาพว่า ขณะนี้เป็นที่สนใจของทั่วโลก เพราะสามารถแปรรูปออกมาได้หลากหลาย ทั้งไบโอพลาสติก ไบโอ ฟลูเอล ไบโอเคมีคอล ไบโอเมดิซีน สำหรับประเทศไทย ภายใน 2-3 ปีนี้ ภาคอุตสาหกรรมมีแผนผลิตเม็ดพลาสติกให้ได้ 1 แสนตัน ต่อปี เท่ากับว่าเม็ดพลาสติกเหล่านี้จะสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกหลากหลาย

รัฐบาลตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอพลาสติก ฮับ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปลายปี 2558 เพราะมีศักยภาพ เนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่มีทั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS และโรงงานพลาสติกชีวภาพชนิด PLA ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นทางในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ หากรัฐบาลจะใช้โอกาสนี้ ต่อยอดผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในอีก 15 ปีข้างหน้า ก็คงไม่นานเกินรอ

รายการอ้างอิง :
น.รินี เรืองหนู. เกาะติด ‘พีรพันธุ์ พาลุสุข’ศึกษาเยอรมนี-สวิสใช้เทคโนโลยีเพิ่มรายได้ (1). มติชน. ฉบับวันที่ 03 ตุลาคม พ.ศ. 2556.– ( 71 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


− six = 3

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>