สถาบันแสงซินโครตรอน จับมือ ม.สุรนารีและนาโนเทค สร้างสถานีทดลองแสงซินโครตรอนเพิ่ม เน้นเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ รองรับงานวิจัยโดยเฉพาะด้านนาโนเทคโนโลยี
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สถาบันฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งและดำเนินการสถานีร่วมวิจัยเพื่อการใช้แสง ซินโครตรอน กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมแบบไตรภาคี โดยมีความร่วมมือด้านงานวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัย การร่วมใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ การพัฒนาและแลกเปลี่ยนบุคลากรร่วมกัน
ทั้งนี้สถานีดังกล่าว เป็นระบบลำเลียงแสงที่ 5 หรือ ระบบลำเลียงแสง “มทส.–นาโนเทค-สซ.” ใช้งบประมาณในการก่อสร้างสถานีประมาณ 45 ล้านบาท เน้นทดลองด้านเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ที่ทำงาน
ได้ในช่วงพลังงานแสงซินโครตรอน ย่านรังสีเอกซ์ตั้งแต่ 1,250-10,000 อิเล็กตรอนโวลต์ (eV) โดยใช้เครื่องคัดเลือกพลังงานแสงแบบผลึก
สำหรับเทคนิคดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ สถานะทางเคมีและโครงสร้างอะตอมโดยรอบของธาตุที่สนใจศึกษาได้หลายชนิด ไม่ทำลายสารตัวอย่างและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยด้านต่าง ๆ เช่น วัสดุศาสตร์ ชีววิทยา สิ่งแวดล้อม และโบราณคดี สามารถวิเคราะห์สารตัวอย่างได้ทั้งในสภาวะของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ซึ่งระบบลำเลียงแสงที่ 5 นี้ ถือเป็นหน่วยงานวิจัยกลางในการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยให้บริการแสงซินโครตรอนที่สามารถรองรับงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการเพิ่มโอกาสและศักยภาพของกลุ่มวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ให้เข้มแข็งและทัดเทียมนานาประเทศ
– ( 154 Views)