magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก สุดยอดนักเทคโนปี56
formats

สุดยอดนักเทคโนปี56

ดร.สมวงษ์ ตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันจีโนมแห่งชาติ ตัวแทนทีมที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นปี 2556 ประเภททีม

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ยกย่อง วิศวกรโลหะ-สถาบันจีโนมแห่งชาติ-รถตัดอ้อย สุดยอดนักเทคโนโลยีปี 2556

การค้าขายในตลาดโลกจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องมีจุดขายต่างจากคู่แข่ง เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ งานวิจัยและนวัตกรรมจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยยกระดับสินค้าและบริการของไทยให้ก้าวสู่เวทีโลกอย่างมั่นคง

:ยกระดับจิวเวลรี่ด้วยการแปรธาตุ

ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน อาจารย์หน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมโลหะ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2556 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโลหะวัสดุมากว่า 20 ปี ทำให้รู้ปัญหาในการผลิต และพยายามหาทางแก้ด้วยงานวิจัย
ที่ผ่านมากระบวนการขึ้นรูปเครื่องประดับแบบเดิมที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับจะเป็นการหล่อแบบขี้ผึ้งหาย หรือการนำวัสดุโลหะแทนที่ขี้ผึ้ง มีกรรมวิธีที่ละเอียดซับซ้อนถึง 15 ขั้นตอนกว่าจะได้ชิ้นงานออกมาต้องใช้เวลานานและต้นทุนสูง ทำให้การแข่งขันของธุรกิจเครื่องเงินไทยอาจเป็นรองต่างชาติได้

ทีมวิจัยจึงเกิดไอเดียที่จะพัฒนาวิธีการหล่อวัสดุแบบใหม่ ด้วยการประยุกต์ใช้หลักทางอุณหพลศาสตร์ (อุณหภูมิ ความร้อน และพลังงาน) และการปรับปรุงโครงสร้างเชิงโลหะวิทยา ด้วยการพัฒนาสูตรการขึ้นรูปด้วยส่วนผสมที่ต่างไปจากเดิม เพื่อให้ได้ระบบโลหะผสมและเทคนิคการผลิตแบบใหม่ สำหรับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับเงินซึ่งมีต้นทุนถูกลงไปจากเดิม

ขณะนี้ผลงานวิจัยดังกล่าวสามารถลดขั้นตอนการผลิตให้สั้นลงเหลือ 6 ขั้นตอน จากที่เดิม 15 ขั้นตอน โดยได้สูตรการผลิตเครื่องเงินสูตรใหม่ และแม่พิมพ์แบบใหม่ที่ทนอุณหภูมิสูงขึ้น แถมลดการใช้อุณหภูมิหลอมเลวน้อยลงจากเดิม 40-70% ซึ่งทำให้เหลือของเสียจากกระบวนการผลิตน้อยลงและลดการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง

“งานวิจัยดังกล่าวจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินของไทย ให้มีโอกาสในการแข่งขันสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่ถูกลงกว่าเดิม 60% โดยแผนต่อยอดหลังจากนี้จะร่วมกับภาคเอกชนขยายสเกลจากห้องปฏิบัติการสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับธุรกิจเครื่องเงินของไทยรับมือกับตลาดโลก”นักวิจัย กล่าว

:การันตีคุณภาพสินค้าด้วยดีเอ็นเอ

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการสถาบันจีโนมแห่งชาติ ตัวแทนทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นปี 2556 ประเภททีม กล่าวว่า ผลงานที่ได้รับรางวัลดังกล่าวมาจากการใช้เทคโนโลยีฐานจีโนมิกส์กับการตรวจสอบจีโนมอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยควบคุมคุณภาพสินค้าในการส่งออก อาทิ สินค้าอาหาร และพันธุ์พืช

“ทีมวิจัยสร้างห้องแล็ปและพื้นฐานความรู้ด้านรหัสพันธุกรรมมาตั้งแต่ปี 2538 เพื่อประโยชน์ในการให้บริการภาคเอกชนที่ต้องการตรวจสอบดีเอ็นเอผลิตภัณฑ์อาหารและพันธุ์พืช สำหรับการันตีคุณภาพให้คู่ค้าเกิดความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการยิ่งขึ้น”ผู้อำนวยการสถาบันจีโนมแห่งชาติ กล่าว

เทคโนโลยีฐานจีโนมิกส์มีประโยชน์ต่อประเทศใน 2 ด้าน ได้แก่ ด้านการส่งออก โดยมีผลทางกฏหมายป้องกันการกีดกันทางการค้า เช่น ความสำเร็จเรื่องการตรวจสอบข้าวปลอมปนจากเมล็ดข้าวสาร โดยเฉพาะปัญหาการปลอมปนของข้าวขาวดอกมะลิ 105 และข้าวกข 15 ซึ่งเป็นข้าวส่งออกที่สร้างชื่อของไทย นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการตรวจสอบการปนเปื้อนเนื้อวัวในอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารสัตว์ได้ละเอียดถึง 0.01% เพื่อป้องกันการระบาดของโรควัวบ้าเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ 10 ปีก่อน

สำหรับประโยชน์ด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์อย่างก้าวกระโดด ทีมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีจีโนมของปาล์มน้ำมันเพื่อร่นระยะเวลาการปรับปรุงพันธุ์จาก 20 ปีเหลือเพียง 5-8 ปีเท่านั้น จนได้พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่สามารถปลูกได้ผลผลิตที่ดีในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ยมากกว่า 5 ตันต่อไร่ต่อปี ทำให้เกษตรกรมีผลผลิตที่ดีและรายได้เพิ่มขึ้น

:รถตัดอ้อยสัญชาติไทย

นักเทคโนโลยีดีเด่นประเภททีมประจำปี 2556 อีกเรื่องเป็นรถตัดอ้อยที่มีกระบะบรรจุท่อนอ้อยทำงานแบบอัตโนมัติ นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดยห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถเกษตรยนต์ โดยสามารถ ลี้ธีระนานนท์ หุ้นส่วนผู้จัดการ กล่าวว่า เป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สะดวกถึงวันละ 100 ตัน

“รถตัดอ้อยสัญชาติไทยราคาถูกกว่านำเข้ากว่า 7 ล้านบาททั้งที่ประสิทธิภาพไม่ต่างกัน โดยเกษตรมีโอกาสที่จะเข้าถึงนวัตกรรมมากขึ้น และใช้งานง่ายด้วยขั้นตอนการที่ไม่ซับซ้อน ทำให้ลดต้นทุนในส่วนของค่าแรงคนงานตัดอ้อยและเกิดรายได้ที่คุ้มทุนในเวลาไม่ช้า”เจ้าของนวัตกรรม กล่าว

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดโลก ใครไม่มีนวัตกรรมโอกาสแข่งขันยิ่งน้อย ทางมูลนิธิจึงส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับธุรกิจด้วยการมอบรางวัลเป็นกำลังใจให้กับนักวิจัยและผู้ประกอบการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 12

ทั้งนี้รางวัลสำหรับนักเทคโนโลยีดีเด่นจะได้รับโล่เรือใบซุปเปอร์มด พร้อมเงินรางวัล 1 ล้านบาท และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่จะได้รับเหรียญเรือใบซุปเปอร์มด พร้อมเงินรางวัล 2 แสนบาท โดยจะมีการมอบรางวัลในวันที่ 21 ตุลาคม โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 39 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. สุดยอดนักเทคโนปี56. 2556. กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต,  http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/science/20131011/535710/ สุดยอดนักเทคโนปี56.html, วันที่ 11 ตุลาคม.– ( 142 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


2 × four =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>