“แพร่” เปิดแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด ชูไอเดียเฟอร์นิเจอร์ซิตี้ “เมืองเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก” ควบคู่การยกระดับกระบวนการผลิตตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โฟกัสการออกแบบ-พัฒนาสินค้า สร้างอัตลักษณ์ เฉพาะตัว สร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมเร่งทัพการตลาดเชิงรุก หวังเพิ่มช่องทาง สร้างรายได้ ตั้งเป้า 2 หมื่นล้าน ภายในปี 2561
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีแนวคิดผลักดันให้จังหวัดแพร่เป็นเมืองเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก หรือเฟอร์นิเจอร์ซิตี้ เป็น 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์หลักของจังหวัดที่จะขับเคลื่อนนับตั้งแต่ปี 2558-2561 โดยอาศัยจุดแข็งในการเป็นพื้นที่ปลูกทั้งในส่วนของหน่วยงานของรัฐและเอกชน ไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนไร่ ในจำนวนนี้เป็นป่าปลูกขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ประมาณ 90,000 ไร่ และป่าปลูกของเอกชนจำนวน 60,000 ไร่ ประกอบกับคนในพื้นที่มีประสบการณ์ด้านงานไม้มายาวนานกว่า 138 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการให้สัมปทานป่าไม้แก่ชาวเดนมาร์กและอังกฤษ
ทั้ง นี้ ตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดตั้งแต่ปี 2558-2561 จังหวัดต้องการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สักทองเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันมีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 5,000 ล้านบาทต่อปี และในปี 2561 ตั้งเป้ารายได้เพิ่มเป็น 20,000 ล้านบาทต่อปี โดยโฟกัสไปที่การออกแบบและพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน, สร้าง อัตลักษณ์เฉพาะตัว, สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และการสร้างตลาดเชิงรุก
“ในอีก 2 ปีข้างหน้าหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ต้องเกิดขึ้นอย่าง
หลีก เลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะคู่แข่งสำคัญที่มาจากพม่า, สปป.ลาว และเวียดนาม หากเราสร้างเมืองเฟอร์นิเจอร์ซิตี้สำเร็จ ไม่ใช่เพียงรายได้ของคนเมืองแพร่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมไม้สักทองของประเทศด้วย”
ผู้ ว่าฯแพร่ กล่าวว่า ทางจังหวัดได้รับ ความร่วมมือจากหลาย ๆ หน่วยงาน อาทิ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก (อ.อ.ป.), ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการ (มหาวิทยาลัยแพร่), ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ (ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด), โครงการกองทุนสหกรณ์ไม้สัก (สำนักงานสหกรณ์จังหวัด) และโครงการพัฒนาเมืองคู่ปั้นเศรษฐกิจสูงเม่น-เด่นชัย เพื่อรองรับเมืองเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก และ ผลักดันให้จังหวัดแพร่ไปสู่เมืองเฟอร์นิเจอร์ซิตี้อย่างเต็มรูปแบบ
ด้าน นายฐานวัฒน์ วิทยปีชาศิลป์ นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้ เผยว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เมืองแพร่ก้าวไปสู่เมืองแห่งเฟอร์นิเจอร์ได้ตามเป้า หมาย คือ ต้องมีการวางโพซิชันนิ่งของตนเองให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต ดีไซน์ และตลาดรองรับ ล่าสุดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้งบประมาณกว่า 7 ล้านบาท เพื่อนำมา สร้างโรงงานต้นแบบเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจ
“วันนี้ การยกระดับเฟอร์นิเจอร์ของเมืองแพร่ เราเพิ่งเริ่มนับหนึ่งเท่านั้นเอง ยอมรับว่าเราเริ่มช้าไปบ้าง แต่ก็ยังไม่สาย สเต็ปแรกจากนี้ไปอีก 3 ปี เราจะโฟกัสพัฒนาทักษะของคน และอีก 5 ปีถัดไป เราจะพุ่งเป้าการผลิตที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ ด้านการตลาดจะต้องมองหาตลาดใหม่ที่เป็นนิชมาร์เก็ตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มโรงแรมและรีสอร์ต ที่ต้องการชิ้นงานที่เป็นเอ็กซ์คลูซีฟ ผม เชื่อมั่นว่าเราทำได้แน่นอน”
ขณะที่นายนพดล ฝักฝ่าย ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้สักทองในจังหวัดแพร่ มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลักดันให้เป็นเมืองเฟอร์นิเจอร์ซิตี้ โดยมีอำเภอสูงเม่น และอำเภอเด่นชัย เป็นแหล่งผลิตใหญ่ ปัจจุบันมีสภาพเป็นเมืองเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว แต่การเรียกเมืองเฟอร์นิเจอร์ซิตี้นั้นเป็นเพราะจังหวัดต้องการยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ พร้อมกับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามากขึ้น
“การ ทำตลาดในประเทศยังไปได้ดี แต่ตลาดต่างประเทศค่อนข้างมีปัญหาโดยเฉพาะลูกค้าจากจีน แม้ว่าจะมีความต้องการสินค้าไทย แต่ก็ยังไม่กล้าสั่งซื้อ ด้วยเหตุผลไม่มีความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพ ผู้ประกอบการทุกรายเจอแบบเดียวกันหมด”
สำหรับจังหวัดแพร่ ปัจจุบันมีโรงงาน ผลิตเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก ไม่น้อยกว่า 1,700 แห่ง มีแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย มีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจนี้หลายพันล้านบาท ทั้งนี้หากมีการยกระดับกระบวนการผลิตตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำที่ได้มาตรฐานครบวงจร โดยประเมินว่าจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับเมืองแพร่อย่างมหาศาล
รายการอ้างอิง :
2556. แพร่ชูยุทธศาสตร์’เฟอร์นิเจอร์ซิตี้’ยกระดับอุตสาหกรรมไม้สักทองปั้นรายได้หมื่นล. ประชาชาติธุรกิจ, ฉบับวันที่ 17 – 20 ตุลาคม.– ( 128 Views)