ภาษาไทยมี ลักษณะพิเศษแตกต่าง จากภาษาของชาติอื่น ตรงที่มีการใช้คำต่างๆ ที่หลากหลาย มีเอกลักษณ์ เป็นของตนเอง มีวัฒนธรรม ทางภาษาที่ใช้สื่อสารกัน ด้วยความเคารพ นับถือ ศรัทธา และยกย่องมา ตั้งแต่โบราณกาล มีการแบ่งระดับของภาษาเพื่อที่จะใช้ ให้เหมาะสมตามฐานะของบุคคล สัมพันธภาพระหว่าง บุคคล ตามโอกาสและกาลเทศะ ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้คำราชาศัพท์ นั่นเอง
คำราชาศัพท์ ถ้าแปลตามรูปศัพท์ หมายถึง ถ้อยคำสำหรับพระราชา แต่ในตำราภาษาไทย วจีวิภาค ของพระยา อุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้กำหนดความ หมายของคำราชาศัพท์กว้างออกไปว่าเป็นการใช้ถ้อยคำกับบุคคลที่ควรเคารพตั้งแต่ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย พระภิกษุ ข้าราชการ และสุภาพชน
คำราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับพระภิกษุ ถือได้ว่าเป็น ภาษาพิเศษที่ใช้แตกต่างกับบุคคลทั่วไป เช่น ฉันภัตตาหาร บุคคลทั่วไปใช้ว่า กินอาหาร จำวัด บุคคลทั่วไปใช้ว่า นอน ถวาย บุคคลทั่วไปใช้ว่า มอบให้ อาพาธ บุคคลทั่วไปใช้ว่า เจ็บ ป่วย สรง บุคคลทั่วไปใช้ว่า อาบน้ำ ทำวัตร บุคคลทั่วไป ใช้ว่า สวดมนต์ มรณภาพ บุคคลทั่วไปใช้ว่า ตาย หรือ ถึงแก่กรรม เป็นต้น
นอกจากนี้การใช้คำราชาศัพท์สำหรับพระภิกษุที่ทรง สมณศักดิ์ ก็ต้องใช้ให้เหมาะสมกับสมณศักดิ์ของพระองค์ เช่น การใช้คำราชาศัพท์ กับ สมเด็จพระสังฆราช ฐานันดรศักดิ์ ของพระองค์จะเป็นเสมือนพระราชวงศ์ชั้น “พระองค์เจ้า” คำพูดที่ใช้ต้องใช้คำราชาศัพท์สำหรับพระองค์เจ้าชั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ เช่น ใช้คำ เสวยภัตตาหาร แทนคำว่า ฉันภัตตาหาร ใช้คำ บรรทม แทนคำว่า จำวัด ใช้คำ ประชวร แทนคำว่า เจ็บป่วยหรืออาพาธ ใช้คำ ทรงรับนิมนต์ แทน คำว่า รับนิมนต์ ใช้คำ สิ้นพระชนม์ แทนคำว่า ตายหรือ ถึงแก่กรรม เป็นต้น
รายการอ้างอิง :
กระทรวงวัฒนธรรม. 2556. คำราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับพระภิกษุ, กรุงเทพฯ : กระทรวงวัฒนธรรม, ออนไลน์, สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, http://www.m-culture.go.th/ilovethaiculture/index.php/tolkrahmeam-woman-ubon-ratana-kanya-king-siriwattana-species-wadi-3-public/item/คำราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับพระภิกษุ, วันที่ 28 ตุลาคม 2556.
– ( 76 Views)