magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home เก็บมาเล่า เอามาฝาก เปิดระเบียบแต่งตั้ง ‘สมเด็จพระสังฆราช’ องค์ใหม่
formats

เปิดระเบียบแต่งตั้ง ‘สมเด็จพระสังฆราช’ องค์ใหม่

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา เนื่่องจากอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ทำให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง จึงจำเป็นต้องมีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป…

“สมเด็จพระสังฆราช” เป็นตำแหน่งที่มีมานานตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังมีหลักฐานจากศิลาจารึกของ “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ที่ทรงจารึกคำว่า สังฆราช ไว้ด้วย “สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์สูงสุดของฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้น่าจะมีที่มาจากคณะสงฆ์ไทยนำแบบอย่างมาจากลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้เชิญพระเถระผู้ใหญ่ของลังกา ที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 มาตราที่ 11 ระบุว่า สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
1. มรณภาพ
2. พ้นจากความเป็นภิกษุ
3. ลาออก
4. ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก

นอกจากนี้ มาตรา 10 ยังระบุว่า ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถ้าสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการเถรสมาคมที่เหลืออยู่ เลือกสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่งผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่อาจทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ สมเด็จพระสังฆราชจะได้ทรงแต่งตั้งให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทน

ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามวรรคสาม หรือสมเด็จพระราชาคณะซึ่งได้แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชได้ ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรานี้ในราชกิจจานุเบกษา

นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และเลขานุการมหาเถรสมาคม กล่าวว่า ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ทางมหาเถรสมาคมจะมีการประชุม ซึ่งคงจะมีการหารือกันในเรื่องการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช โดยการพิจารณาแต่งตั้งครั้งนี้ จะมีความแตกต่างจากเมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราชทรงประชวร ซึ่งได้แต่งตั้งเป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธาน

โดยขั้นตอนการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น เลขานุการเถรสมาคมจะนำเสนอวาระดังกล่าวต่อที่ประชุมเถรสมาคม โดยจะได้มีการคัดเลือกสมเด็จพระราชาคณะที่มีสมณศักดิ์สูงสุด ดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จากนั้นจะมีการนำมติของเถรสมาคมนำเสนอให้แก่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป

โดยเมื่อเรียงลำดับตำแหน่งพระราชาคณะในปัจจุบัน ตามลำดับอาวุโส มีดังนี้

1. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (มหานิกาย) ถือว่ามีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุดทุกด้าน ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ.2538 เกิดวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2468 อายุ 88 ปี
2. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศาราม ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. 2544 เกิดวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2460 (95 ปี) (ธรรมยุตนิกาย)
3. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. 2552 เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 (86 ปี) (ธรรมยุตนิกาย)
4. สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. 2552 เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2479 (76 ปี) (ธรรมยุตนิกาย)
5. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) วัดสุทัศน์เทพวราราม ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. 2553 เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2473 (82 ปี) (มหานิกาย)
6. สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาส ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. 2553 เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2490 (65 ปี) (ธรรมยุตนิกาย)
7. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการาม ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ. 2554 เกิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484 (72 ปี) (มหานิกาย)

ทั้งนี้ การวางรูปแบบการปกครองของคณะสงฆ์ไทย เริ่มมีการจัดวางตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีการเพิ่มเติมในสมัยกรุงศรีอยุธยา และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างตามลำดับ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การปกครองคณะสงฆ์ก็ยังจัด โดยมีตำแหน่งเปรียบเทียบดังนี้

สกลสังฆปริณายก ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช
มหาสังฆนายก ได้แก่ เจ้าคณะใหญ่
สังฆนายก ได้แก่ เจ้าคณะรอง
มหาสังฆปาโมกข์ ได้แก่ เจ้าคณะมณฑล
สังฆปาโมกข์ ได้แก่ เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระราชาคณะ
สังฆวาห ได้แก่ เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระครู

อนึ่ง ตามธรรมเนียมและประเพณีปฏิบัติ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชของคณะสงฆ์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะยึดหลัก สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์เป็นหลัก.

รายการอ้างอิง :
2556. เปิดระเบียบแต่งตั้ง ‘สมเด็จพระสังฆราช’ องค์ใหม่. กรุงเทพฯ : ไทยรัฐออนไลน์. ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, http://www.thairath.co.th/content/edu/379041, ค้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556.– ( 128 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


3 + eight =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>