แม้จะไม่สุดล้ำเหมือนกับชุดหุ่นยนต์ HAL ที่ช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตกลับมาเดินได้อีกครั้ง ผลงานของมหาวิทยาลัยสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น และไม่สุดยอดสะดวกสบายอย่างผลงานของมหาวิทยาลัยกรุงเทล อาวีฟ ประเทศอิสราเอล ที่พัฒนาอุปกรณ์ที่จะทำให้ผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สามารถทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เขียนหนังสือ เล่นอินเทอร์เน็ตและขยับรถเข็น ได้เพียงแค่สูดลมหายใจเข้า-ออก
แต่นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการในสไตล์ไทยคิดไทยทำนี้ ก็สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองจากงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ หรือ i-CREATe ณ ศูนย์จัดแสดงนานาชาติเกาหลี
เสริมแรงให้ข้อเท้า
อุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้า นวัตกรรมสำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อเท้าอ่อนแรง ได้รับรางวัลเหรียญทอง พร้อมเงินรางวัล 700 ดอลลาร์ ออกแบบมาเพื่อการฟื้นฟูและเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเท้าในผู้ที่มีภาวะข้อเท้าติด สามารถประยุกต์ใช้งานได้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน โรคปลายเส้นประสาทอักเสบ โรคหมอนรองกระดูกแตกกดทับเส้นประสาท
กิตติชัย ทราวดีพิมุข คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมงานออกแบบการทำงานไว้ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนอุปกรณ์ช่วยขยับข้อเท้า และส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อกับหน้าจอแสดงผล ซึ่งมีเกมให้เล่นโดยจำลองมาจากสภาพแวดล้อมเสมือนจริง เพื่อพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและความคิด
ในการใช้งาน คนไข้จะใช้ข้อเท้าข้างที่แข็งแรงผลักดันให้ข้างที่อ่อนแรงเคลื่อนที่ โดยมีสัญญาณแสงเป็นตัวตอบสนองถึงมุมการเคลื่อนไหวที่ตั้งค่าไว้ คนไข้สามารถที่จะใช้งานในท่านั่งหรือนอนก็ได้ โดยระบบจะมีคะแนนให้เพื่อกระตุ้นการใช้งานของคนไข้
ผู้ช่วยวางแผนการเดิน
ผู้ช่วยหมอวินิจฉัยการเดิน เพื่อประโยชน์ในการวางแผนรักษา ผลงานของ เนรมิธ จิรกาญน์ไพศาล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือแพทย์สำหรับตรวจวัดการเคลื่อนไหวของข้อเข่าในระหว่างการเดินของผู้ที่มีปัญหาเรื่องการเดิน เพื่อประโยชน์ในการวางแผนรักษา
การใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวเพียงติดตั้งที่ต้นขาเหนือหัวเข่าของคนไข้ อุปกรณ์จะตรวจวัดและวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับค่าการวัดมุมระหว่างก้าวเดิน 1 ก้าว ซึ่งมี 8 ขั้นตอนที่ใช้สำหรับวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินโดยตรง รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการรักษาในอันดับต่อไป เช่น การวางแผนฟื้นฟูด้วยเทคนิคพิเศษเฉพาะทาง เป็นต้น
จุดเด่นของนวัตกรรมดังกล่าวคือ เป็นผลงานคนไทยที่มีราคาต้นทุนอยู่ในหลักพันบาท สามารถหาอะไหล่ได้ในประเทศ และสถานพยาบาลในถิ่นทุรกันดารก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ขณะที่เครื่องนำเข้ามีราคาถึง 7.5 แสนบาท และต้องสั่งอะไหล่จากต่างประเทศ จึงใช้เวลานานในการซ่อมแซม
ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลชมเชย โดยเป็นเทคโนโลยีที่พร้อมส่งต่อสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับแพทย์ในการวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการเดินโดยตรง
บล็อกเสริมสร้างพัฒนาการ
ชุดฝึกอ่านสำหรับเด็ก บล็อกสี่เหลี่ยมฝึกอ่านเขียนภาษาไทย สำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติหรือโรคแอลดีในช่วงอายุ 6-9 ปี สามารถออกเสียงและผสมคำได้ถูกต้อง ผลงานของคณาทิพย์ จันทร์วิภาส คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สิ่งประดิษฐ์นี้มีทั้งหมด 20 ชิ้น แบ่งเป็น การฝึกออกเสียงพยัญชนะ 15 ชิ้น และฝึกออกเสียงตัวสะกดอีก 5 ชิ้น เมื่อนำมาต่อกันสามารถสอนวิธีการสะกดคำที่ถูกต้องได้ พร้อมกับไฟกระพริบกระตุ้นการเรียนรู้สำหรับเด็ก
ตอนนี้อุปกรณ์ดังกล่าวมีความรู้เชิงเทคนิคในการผลิตแล้ว แต่หากจะนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ยังสามารถเพิ่มคุณสมบัติการใช้งาน ด้วยการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อเก็บข้อมูลมาประมวลผลเชิงเทคนิคได้อีกด้วย
สามผลงานข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาตินำไปจัดแสดงในงาน i-CREATe แม้จะไม่เลิศหรูและไฮเทคโนโลยี แต่ก็ใช้ประโยชน์ได้จริง มีศักยภาพต่อยอดเชิงพาณิชย์ในราคาที่คนไทยเข้าถึง
รายการอ้างอิง :
กานต์ดา บุญเถื่อน. 2556. ไทยสไตล์เพื่อผู้พิการ. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจ (ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอรืเน็ต, http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/innovation/20131031/539882/ไทยสไตล์เพื่อผู้พิการ.html. ค้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556.
– ( 92 Views)