magnify
magnify

Open Knowledge for all 

Home Health ลดความเสี่ยงโรคฟันผุด้วยโพรไบโอติก
formats

ลดความเสี่ยงโรคฟันผุด้วยโพรไบโอติก

ปัญหาเรื่องสุขภาพในช่องปากโดยเฉพาะโรคฟันผุในคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากไม่ถูกวิธี และพฤติกรรมการชอบบริโภคอาหารที่มีรสหวานมาก ๆ ซึ่งเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเป็นโรคฟันผุได้ง่าย

ซึ่งเมื่อเป็นโรคฟันผุแล้วนอกจากจะมีผลต่อสุขภาพในช่องปากแล้ว ยังทำให้ต้องเสียเวลาและเสียเงินในการรักษาและหากปล่อยให้การผุลุกลามไปมาก ๆ ไม่รีบรักษาอาจจะทำให้ต้องเสียฟันซี่นั้นไปจากช่องปากไปเลย

การรักษาฟันผุจำเป็นต้องให้ทันตแพทย ศาสตร์เป็นผู้รักษา ซึ่งการไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐสิ่งที่หลาย ๆ คนต้องเจอ คือ การรอคิวรักษานาน และหากจะไปคลินิกเอกชนค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้น โดยเฉพาะหากการผุนั้นลุกลามมาก จนต้องทำการรักษารากฝัน และทำการครอบฟัน การดูแลรักษาความสะอาดสุขภาพช่องปากไม่ให้ฟันผุจึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหา วิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดย ศาสตรา จารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล และ ทพญ.สุพัชรินทร์ พิวัฒน์ และคณะผู้ร่วมวิจัย ได้ร่วมทำการวิจัยต่อยอดโดยการนำโพรไบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus paracasei SD1 หรือเชื้อแบคทีเรียที่ได้จากช่องปากที่มีความสามารถในการป้องกัน ฟันผุ มาพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ผสมโพรไบโอติก ได้เป็นผลสำเร็จ เพื่อเป็นทางเลือกในการป้องกันและลดความเสี่ยงโรคฟันผุให้แก่คนไทย

ศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า โพรไบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus paracasei SD1 เป็นแบคทีเรียที่ได้มาจากช่องปาก ที่มีความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคฟันผุ จึงได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผสมโพรไบโอติกในรูปแบบอาหารเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค อาทินมผง นมอัดเม็ด โยเกิร์ต นอกจากนี้ยังสามารถนำไปผสมในเครื่องดื่มน้ำผลไม้ต่าง ๆ ได้ด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล อธิบายกลไกการทำงานของโพรไบโอติกว่า สามารถลดเชื้อก่อโรคฟันผุ โดยการแข่งขันเพื่อครอบครองพื้นที่ สามารถสร้างสารยับยั้งการเจริญเติบโตต่อเชื้อก่อโรคฟันผุโดยตรง และสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานต่อเชื้อก่อโรคด้วย ซึ่งต่างจากการใช้น้ำยาบ้วนปากหรือสารต้านเชื้อ ที่มีผลในการลดเชื้อเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการดื้อต่อสารต้านเชื้อตามมาในภายหลังได้ นอกจากนี้โพรไบโอติกยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ในคนทุกช่วงอายุ รวมถึงผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาฟันผุที่ผิวรากฟันจากปัญหาเหงือกร่นด้วย

ทั้งนี้สำหรับกระบวนการนำโพรไบโอติก Lactobacillus paracasei SD1 มาผสมในเครื่องดื่มนั้น จะนำเอาหัวเชื้อมาเตรียมในรูปแบบของ microencapsulation ซึ่งมีลักษณะเป็นแคปซูลขนาดเล็กคล้ายชาไข่มุก และต้อง เคี้ยวเพื่อให้ตัวเชื้อได้ออกมาสัมผัสกับช่องปาก ซึ่งการทำเป็นรูปแบบแคปซูลนี้ จะทำให้เชื้อมีชีวิตรอดอยู่ได้นานกว่าการผสมลงในน้ำและเครื่องดื่มโดยตรง อย่างไรก็ตาม การเตรียมผสมในรูปแบบของนมผงและโยเกิร์ตจะเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด เนื่องจากเชื้อจะมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า โดยยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุได้ดีเท่าเดิม

“การนำโพรไบโอติกไปพัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ นับเป็นทางเลือกที่ดีและง่ายต่อผู้บริโภคในการยับยั้งและป้องกันฟันผุ ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาวะในช่องปากและพฤติกรรมการรับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารหวาน จึงจะช่วยลดอัตราการเกิดฟันผุในประชากรไทยได้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น” ศาสตราจารย์ ดร.รวี กล่าว

อย่างไรก็ตามในอนาคต ทางศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล และทีมคณะวิจัย มีแผนต่อยอดงานวิจัยเพื่อเสริมสุขภาพในช่องปากของคนไทย ด้วยการผสมสารโพรไบโอติกและฟลูออไรด์ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นที่ยังขาดฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม และยังมีเป้าหมายจะขยายการวิจัยไปสู่การนำโพรไบโอติกมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันโรคปริทันต์อักเสบ และป้องกันการติดเชื้อราในช่องปาก ซึ่งถือเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ในการนำโพรไบโอติกมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพในช่องปากให้ดียิ่งขึ้น

อันจะนำไปสู่การป้องกันและลดความเสี่ยงโรคฟันผุให้แก่คนไทยได้ในอนาคต.

รายการอ้างอิง :
2556. ลดความเสี่ยงโรคฟันผุด้วยโพรไบโอติก. กรุงเทพฯ : เดลินิวส์ (ไอที). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอรืเน็ต, http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=192354, ค้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2556.– ( 52 Views)

 
 Share on Facebook Share on Twitter Share on Reddit Share on LinkedIn
No Comments  comments 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*


9 + four =

You may use these HTML tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>