รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2554 ระบุกลุ่มคนที่อายุ 11 ปีขึ้นไปออกกำลังกายน้อยลง เหตุจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ สิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้นและการขาดความตระหนักในการดูแลตนเอง ส่งผลให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลง การเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสม
ขณะที่ข้อมูลของคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ มีผู้ที่ออกกำลังกายเกินกว่า 30 นาที (ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในการดูแลสุขภาพ) เพียง 46% และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ วัยเด็กและวัยสูงอายุมีการออกกำลังกายเพียง 20% และ 8% ตามลำดับ
จึงเป็นที่ต้องการ “แค่ขยับเท่ากับออกกำลังกาย” แคมเปญรณรงค์การใส่ใจสุขภาพของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพหรือ สสส. จุดประกายให้คนที่ไม่เคยคิดหรือไม่มีเวลาออกกำลังหันมาใส่ใจการขยับตัวเรียกเหงื่อ เช่นเดียวกับโครงการ Exercise is Medicine ภายใต้การสนับสนุนจากวิทยาลัยเวชศาสตร์การกีฬาแห่งสหรัฐอเมริกา และกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาในไทย
นอกจากยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ การออกกำลังกายหรือแค่ขยับตัวก็สามารถป้องกันและรักษาโรคบางอย่างได้เช่นกัน แต่บางคนต้องมีใบสั่งแพทย์
ผู้ป่วยจำนวนมากใช้เวลาครึ่งค่อนวันรอพบแพทย์ และได้ใช้เวลาปรึกษาแพทย์ 3-5 นาทีเท่านั้น ในระยะเวลาอันสั้นนั้น แพทย์จะบอกแค่ “คุณควรออกกำลังกาย” แน่นอนว่า การกลับมาพบแพทย์ตามนัดอีกครั้งใน 1 เดือนข้างหน้า จะไม่มีความคืบหน้าเรื่องการออกกำลังกาย
กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยจนแพทย์จากสหรัฐรายหนึ่งหมดความอดทน เมื่อพบว่า ผู้ป่วยไม่ได้ออกกำลังกาย และอาการป่วยไม่ดีขึ้น ผลการรักษาครั้งต่อมา แทนที่ใบสั่งยาจะมีแต่ยารักษาโรค แพทย์ยังสั่งให้ออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่มีกำหนด
ระยะเวลา 3 เดือนหลังจากใบสั่งการออกกำลังกายนี้ ผู้ป่วยกลับมาตรวจตามนัดอีกครั้ง พร้อมการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด น้ำหนักตัวลดลง สุขภาพแข็งแรงขึ้น อาการป่วยบรรเทาลง
“เราทราบถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายแต่วงการแพทย์ยังไม่ได้ใช้การออกกำลังกายอย่างจริงจัง โครงการนี้จึงจะรณรงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์นำวิธีการ “การสั่งการออกกำลังกาย” หรือ Exercise Prescription ไปปฏิบัติกับคนไข้อย่างเหมาะสม” ศ.นพ.อรรถ นานา คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
“การสั่งการออกกำลังกาย” จึงเป็นความหวังใหม่ที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาสุขภาพโดยรวม ป้องกันปัญหาโรคไม่ติดต่อที่ส่งผลให้สภาพร่างกายเสื่อมถอยที่กำลังเป็นมหันตภัยเงียบ เป็นกิจกรรมตั้งรับปัญหาภาวะอ้วนน้ำหนักเกินที่กำลังเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์เบาหวาน ความดันเลือดสูง ฯลฯ จะช่วยลดผลกระทบต่อเนื่องในด้านค่ารักษาพยาบาลในระยะยาวอีกด้วย
เคล็ดลับขยับตามวัย
การออกกำลังกาย ไม่จำเป็นต้องเข้าฟิตเนสหรือโรงยิม นพ.กรกฎ พานิช ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล แนะว่า การขยับตัวหรือออกกำลังกายให้เหมาะสมนั้น ต้องทำให้เหมาะกับวัยและความสามารถของร่างกายบุคคลนั้นๆ
+ เด็กวัย 12-14 ปี เป็นวัยที่กระดูกกำลังเจริญเติบโต การออกกำลังกายไม่ควรเน้นแรงกดหรือแรงกระแทกมากไป เช่น กีฬาเอ็กซตรีม หรือยิมนาสติก เพราะจะส่งผลกับความสูงที่อาจลดลงได้
+ คนวัยทำงาน 30 ปีขึ้นไป ร่างกายเริ่มเข้าวัยเสื่อม ต้องการการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป เช่น การเดินเร็ว แอโรบิค โดยต้องแต่งตัวให้เหมาะสม เลือกรองเท้าที่ซัพพอร์ตเท้า ลดเสี่ยงเกิดการบาดเจ็บได้ และควรทำครั้งละ 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ ปรับลดได้หากมีโรคประจำตัว
หรือหากไม่มีเวลาก็เลือกใช้การยืดเหยียด ในช่วงว่างของการทำงาน ก็จะช่วยได้บ้าง เพราะการนั่งทำงานเป็นเวลานาน เส้นเลือดอาจพับจนกรอบ ทำให้เลือดตกตะกอน ไม่ไหลเวียน การยืดเหยียดบ่อยๆ ช่วยได้มาก
+ ผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่ร่างกายเสื่อมถอย โดยเฉพาะเข่า หลัง ที่มักปวด จึงแนะนำให้เดินช้าๆ หรือเดินในสระว่ายน้ำ เพื่อให้น้ำช่วยพยุงข้อ ไม่ให้เกิดการปวด แต่ยังคงเสริมสร้างกล้ามเนื้อมาช่วยพยุงข้อเข่าอีกด้วย
นอกจากความแข็งแรงของร่างกายแล้ว แพทย์ยังแนะนำให้ออกกำลังเพื่อเพิ่มระบบประสาทที่เสื่อมถอย ซึ่งกระทบการทรงตัว โดยการเกาะขอบโต๊ะ ยืนขาเดียวเป็นเวลา 2-3 นาทีต่อครั้ง ทำต่อเนื่องทุก 2 ชั่วโมง
รายการอ้างอิง :
สาลินีย์ ทับพิลา. 2556. ขยับ เหยียด ยืด สกัดทุกโรค. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจ (Life Style : สุขภาพ). ออนไลน์. สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต, http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20131029/538705/ขยับ-เหยียด-ยืด-สกัดทุกโรค.html, ค้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556.– ( 75 Views)