นักวิทยาศาสตร์ในอินเดียและอังกฤษที่ร่วมกันศึกษาอาการสมองเสื่อม พบว่า ผู้ป่วยที่พูดสองภาษาเริ่มมีอาการสมองเสื่อม (dementia) ช้ากว่าผู้ป่วยที่พูดภาษาเดียว 4.5 ปี โดยพบแนวโน้มเช่นนี้ในกลุ่มผู้ป่วยสมองเสื่อมทั้งสามประเภท รวมถึงอัลไซเมอร์ โดยไม่เกี่ยวกับปูมหลังด้านการศึกษาหรือรายได้
นักวิจัยสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ในเมืองไฮเดอราบาด ประเทศอินเดีย สำรวจผู้ป่วยสมองเสื่อมชนิดต่างๆ จำนวน 648 คนอายุเฉลี่ย 66 ปี โดยเกือบ 400 คนพูดสองภาษาหรือมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติในอินเดีย พบว่าในภาพรวม คนที่พูดภาษาที่สอง ป่วยเป็นสมองเสื่อม ช้ากว่าคนที่พูดภาษาเดียว แต่ถึงพูดมากกว่าสองภาษา ประโยชน์ก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก ผลการศึกษานี้ให้หลักฐานชัดเจนที่สุดจนถึงปัจจุบันว่า การพูดภาษาที่สองเป็นประโยชน์ต่อสมอง ต่อให้อ่านเขียนไม่ได้ก็ตาม
ผลการศึกษาชิ้นนี้ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารประสาทวิทยา ระบุด้วยว่าผู้ป่วยเหล่านี้อาศัยในอินเดีย ประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ก็สามารถอนุมานกับคนที่พูดหรือเรียนภาษาที่สองได้ในระดับหนึ่ง
นักวิจัยเปรียบเทียบการเรียนภาษาใดภาษาหนึ่งต่อสมอง เหมือนกับการว่ายน้ำต่อร่างกาย คือการออกกำลังกายทุกอย่างดีต่อร่างกาย แต่การว่ายน้ำพิเศษตรงที่ได้ออกกำลังแทบทุกส่วน เหมือนกับการพูดอีกภาษา ที่กระตุ้นสมองให้ได้ออกกำลังทั้งระบบ เวลาที่เราเปลี่ยนจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง สมองจะต้องทำงานแยกแยะความแตกต่างของคำ เสียง ความสัมพันธ์ของคำและบรรทัดฐานทางสังคม
นักวิจัยกล่าวด้วยว่า การพูดได้สองภาษา ไม่อาจขจัดความเสี่ยงสมองเสื่อมได้สิ้นเชิง แต่ชะลอได้อย่างมีนัยสำคัญ
แต่ถึงอย่างนั้น รูปแบบและจังหวะเวลาของการเรียนภาษาที่สองของคนคนหนึ่งที่โยงกับโรคสมองเสื่อม ยังเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม
รายการอ้างอิง :
2556. เรียนภาษาที่สองป้องกันสมองเสื่อมเร็ว. กรุงเทพ : คม ชัด ลึก (ต่างประเทศ : คอลัมน์เด็ด), ออนไลน์, สืบค้นจากอินเทอรืเน็ต, http://www.komchadluek.net/detail/20131109/172267.html, ค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556.– ( 95 Views)