แม้เทคโนโลยีและแพทย์จะช่วยให้อาการทางกายหายไป แต่จิตใจและอารมณ์ก็ต้องฟื้นฟูด้วย “เสียงหัวเราะ”
หญิงวัยกลางคนถูกโรคร้ายรุมเร้าทั้งโรคหัวใจ เบาหวานและความดัน แม้เทคโนโลยีและแพทย์จะช่วยให้อาการทางกายหายไป แต่จิตใจและอารมณ์ก็ต้องฟื้นฟูด้วย “เสียงหัวเราะ”
“ข้อดีของการหัวเราะคือ ช่วยทั้งร่างกายและจิตใจ” นพ.ชาญฤทธิ์ ล้อทวีสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวและว่า การหัวเราะช่วยให้ระบบการสูบฉีดเลือดของหัวใจทำงานได้ดี เลือดไหลเวียนสะดวก ลดความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและสมอง เพราะช่วยลดความดันโลหิต ลดฮอร์โมนความเครียด ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ สร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย และช่วยให้ปอดแข็งแรงหัวใจแข็งแรงจากเสียงหัวเราะ เป็นหนึ่งเทคนิคที่แพทย์ด้านโรคหัวใจแนะนำ
การหัวเราะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ หัวเราะธรรมชาติ ที่ถูกกระตุ้นให้มีอารมณ์ขันในชีวิตประจำวัน และหัวเราะบำบัด เป็นการหัวเราะแบบรู้ตัว กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน เพื่อบำบัดจิตใจและฟื้นฟูร่างกาย
การหัวเราะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายใน 7 ระบบ ได้แก่ ระบบการทำงานของสมอง เพราะเมื่ออารมณ์ดี สมอง จะมีการหลั่งสารเอนโดรฟีน ซึ่งเป็นสารมีฤทธิ์ทำให้เกิดความสุข ผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด รวมไปถึงระบบหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย ระบบพักผ่อนและผิวพรรณ ระบบเจริญพันธุ์ และสัญชาตญาณการอยู่รอด
ทั้งนี้ อุบัติการณ์โรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นมาก มีรายงานชี้ว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจประมาณ 4 หมื่นคนต่อปี หรือมากกว่า 100 คนต่อวัน นอกจากการรักษาอาการทางกายด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ แล้ว ผู้ป่วยโรคหัวใจส่วนใหญ่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และโรคหัวใจนั้นส่งผลต่อสภาพจิตใจด้วยเช่นกัน
“ภาวะซึมเศร้า เป็นอีกหนึ่งปัญหาของผู้ป่วย นอกจากหวาดกลัวและเจ็บปวดจากโรค ยังมีความเครียดจากที่เคยทำอะไรได้ด้วยตนเอง มีความภูมิใจในตัวเองก็หายไป เพราะต้องมีคนดูแล โรคและความเสื่อมทำให้ทำสิ่งที่เคยทำไม่ได้ ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบาก” คุณหมออธิบาย
สิ่งที่จะช่วยได้คือ การสร้างทัศนคติที่ดี มีความคิดเชิงบวก ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ไม่เครียด รวมถึงต้องพัฒนาทักษะการจัดการกับความโกรธ หัวเราะกับปัญหาที่เกิดได้ มองโลกในแง่ดี ก็จะลดความเสี่ยงการเกิดโรค ลดความรุนแรงของตัวโรคได้
ยิ่งเครียด โกรธ หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ช้าลง หรือเต้นผิดจังหวะ นำมาสู่โรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แรงบีบหัวใจผิดปกติ รวมถึงอาจทำให้ความดันโลหิตสูงด้วย
“วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าอย่างมาก แต่ไม่ใช่พระเอกทุกครั้ง เพราะการรักษาโรค ต้องทำทั้งกายและใจ การหัวเราะก็เป็นอีกหนึ่งกองทัพที่จะช่วยให้อารมณ์และจิตใจดีขึ้น พร้อมรับมือกับความเจ็บป่วยทางกายได้อย่างเต็มที่” นพ.ชาญฤทธิ์ กล่าว
รายการอ้างอิง :
สาลินีย์ ทับพิลา. 2556. ‘หัวเราะ’ พลังเปลี่ยนชีวิต. กรุงเทพฯ : กรุงเทพธุรกิจ (Life Style : สุขภาพ). ออนไลน์. สืบค้นจากอนิเทอรืเน็ต,
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20131112/541347/หัวเราะ-พลังเปลี่ยนชีวิต.html, ค้นเมื่อวันที่ 14 พฤศิจกายน 2556.– ( 43 Views)